แล้งนี้ไม่น่าห่วง "แม่วัง"น้ำต้นทุนมาก หนุนปลูกได้เต็มที่

07 ม.ค. 2566 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2566 | 20:04 น.

ผอ.โครงการส่งน้ำฯแม่วัง ยิ้มออก น้ำต้นทุนฤดูแล้งปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำมากขึ้น

นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง เปิดเผยว่า ในฤดูแล้งนี้ (1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566) พื้นที่โครงการส่งน้ำฯ แม่วัง มีน้ำต้นทุนสนับสนุนการเพาะปลูกได้เต็มที่ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 187 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 110%  และ 97 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 92% ของความจุตามลำดับ

 

“ปีนี้น้ำต้นทุนดีมาก อีกทั้งในฤดูแล้งลุ่มน้ำวังยังมีปริมาณน้ำท่ารวมๆ 18% เพราะสภาพป่ายังค่อนข้างสมบูรณ์” สิ่งที่โครงการส่งน้ำฯ แม่วัง ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นคลองดิน โดยพัฒนาเป็นคลองดาดคอนกรีตเพิ่มขึ้น เพื่อส่งน้ำให้ถึงที่หมายให้ทันเวลาที่เกษตรกรต้องการ และในปริมาณที่เพียงพอ
 

นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง

 

ทั้งนี้ คลองดินโดยส่วนใหญ่มักประสบปัญหาการสูญเสียน้ำในอัตราสูง ทั้งน้ำซึมเข้าไปในสองฝั่งคลองและการเกิดวัชพืชในคลองและริมคลอง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อการส่งน้ำ ต้องคอยกำจัด แต่ก็กลับแตกขึ้นใหม่ ต้องเสียเวลากำจัด สิ้นเปลืองงบประมาณ เมื่อเทียบกับคลองดาดคอนกรีต


“คลองดินกับคลองดาดคอนกรีต ต่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ดังนั้น เมื่อเราจะเปลี่ยนมาเป็นคลองดาดคอนกรีต ก็ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรว่าต้องการไหม เพราะเวลาก่อสร้างต้องบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวร แบ่งช่วงเวลาส่งน้ำกับช่วงก่อสร้างสลับกันไป แต่โดยรวมๆ ชาวบ้านเอาด้วย เพราะเขาอยากได้น้ำ” 

 


 

แล้งนี้ไม่น่าห่วง \"แม่วัง\"น้ำต้นทุนมาก หนุนปลูกได้เต็มที่

สำหรับการกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำ จะใช้การขุดลอกเอารากและต้นวัชพืชขึ้นมา และใช้เครื่องจักรสนับสนุนแทนแรงคนอย่างเดียว เพราะวัชพืชโตเร็วมาก เป็นอุปสรรคต่อการส่งน้ำและระบายน้ำ

 

ขณะเดียวกัน ยังจะร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำพัฒนาความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น
“เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำเขาเข้มแข็งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เราเพียงใส่เรื่องวิชาการเข้าไปเสริม ซึ่งจะช่วยให้การส่งน้ำมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากขึ้น” นายทวีชัยกล่าว


โครงการส่งน้ำฯ แม่วัง รับน้ำจากเขื่อนกิ่วลมผ่านฝายหลวงสบอาง  มีพื้นที่รับผิดชอบเกือบ 60,000 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ อ.เมืองลำปาง  อ.เกาะคา และ อ.แม่ทะ