เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

05 ม.ค. 2566 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 20:53 น.
533

กัมพูชาวันนี้ ความเจริญเติบโตเศรษฐกิจรุดหน้าไปมาก ยิ่งช่วง 10 ปีหลังทุนต่างชาติแห่มาปักหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนจีนแผ่นดินใหญ่ ลงทุนในกรุงพนมเปญ และหัวเมืองสำคัญอย่างสีหนุ วิลล์ หรือเสียมเรียบ โดยมีคนจีนเข้ามาอยู่ในกัมพูชาก่อนโควิด-19 กว่า 5 ล้านคน

รวมทั้งเกาะกง จังหวัดชายแดนตะวันตกกัมพูชาติดต่อจังหวัดตราด วันนี้มีการพัฒนาไปไกลมาก จากที่มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ตั้งแต่เมื่อปี 2549 และเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 6 ปีต่อมา โดยมีบริษัท KOH KONG SEZ จำกัด บริษัทย่อยในเครือแอลวายพี กรุ๊ป เป็นผู้บริหาร ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติ 4 บริษัท มาลงทุนวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมี Com Ko MOTOR จากเกาหลีใต้ เป็นผู้ลงทุนรายแรก เพื่อประกอบรถยนต์ขายในกัมพูชา

 

นอกจากนี้ยังมี Yazaki Products Corp จากญี่ปุ่น ผลิตชุดสายไฟรถยนต์ส่งออก KKN Apparel Company Limited โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจากประเทศ ไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาสำหรับไนกี้และอาดิดาส เพื่อส่งออก และ MIKASA Sport จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำ เพื่อส่งออก โดยแม้ช่วงโควิด-19 ระบาด แต่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ไม่เคยปิด ยังคงเปิดดำเนินการสร้างรายได้ผู้ประกอบการและคนงานต่อเนื่อง

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

 

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

นายธิติเดช ทองภัทร รองประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาและจังหวัดเกาะกง หลังโควิด-19 คลี่คลายว่า วันนี้ชาวกัมพูชามีกำลังซื้อสูง มีรายได้จากการทำงานในกิจการต่างๆ ของ นักลงทุน โดยเฉพาะชาวจีน ที่มาลงทุนทั้งภาคโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งนักธุรกิจไทยที่มาลงทุนจำนวนมาก รวมถึงในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ที่มีแรงงานหนุ่มสาวกัมพูชาทำงานอยู่มากกว่า 12,000 คน

 

แรงงานเหล่านี้ไม่ต้องเดินทางมาทำงานในไทย แม้ค่าแรงขั้นตํ่าไทยจะสูงกว่า แต่รายได้ในกัมพูชาก็จูงใจ คือมีรายได้ขั้นตํ่าที่ 192 ดอลลาร์/เดือน รวมค่าครองชีพและโอที รวมเป็น 258-259 ดอลลาร์/เดือน หรือ 9,583 บาท/เดือน และดอลลาร์ยังแข็งค่าเพิ่มอีก 12% เทียบเงินบาท เฉพาะแรงงานในนิคมฯเกาะกงก็มีรายได้ค่าจ้างเงินเดือนเดือนละ 96 ล้านบาท หรือวันละ 3.2 ล้านบาท ทำให้กำลังซื้อคนกัมพูชารวมถึงชาวเกาะกงดีขึ้น

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

“ที่น่าดีใจคือ ชาวกัมพูชาหรือเกาะกงที่มีฐานะ หลังโควิดคลี่คลายมีการเปิดด่านบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ ก็พากันมาท่องเที่ยวที่ตราดและต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ของไทย ทั้งเข้ามาซื้อสินค้า มาโรงพยาบาล หรือซ่อมรถยนต์ ทำให้ห้างร้านในจังหวัดตราด คึกคัก ต่อเนื่องถึงห้างเซ็นทรัลที่มาเปิดจังหวัดจันทบุรี มีสินค้าแบรนด์เนมที่ชาวกัมพูชาชอบ ก็มาหาซื้อกัน โรงพยาบาลเอกชนภาคตะวันออกก็มีชาวกัมพูชามารักษาตัวเพิ่ม รวมทั้งหน้าด่าน หาดเล็กก็พัฒนากว้างขวางขึ้นรถบรรทุกสินค้าหรือผู้คนสองประเทศสัญจรเข้าออกสะดวก เอกสารก็ง่ายขึ้น”

 

นายธิติเดช กล่าวอีกว่า สาธารณูปโภคพื้นฐานในเกาะกงก็ได้รับการพัฒนาไปมาก เดิมเกาะกงต้องนำเข้าไฟฟ้า-นํ้าจากจังหวัดตราด ช่วง 15 ปีมานี้พัฒนาไปมาก คุณพัด สุภาภา ลงทุน 4-500 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนเก็บนํ้ามาผลิตนํ้าประปาใช้ในจังหวัดเกาะกง และผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมจากตราด เพียงพอใช้งานไปได้อีกนาน

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

รวมทั้งรัฐบาลไทยสนับสนุนเงินทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ปรับ ปรุงถนนสาย 48 จากเกาะกง ที่ใช้มานานและบางส่วนชำรุด จะได้ขยายให้กว้างขึ้น เพื่อไปเชื่อมถนนสาย 4 (พนมเปญ-สีหนุวิลล์) ที่รัฐบาลกำลังยกระดับเป็นมอเตอร์เวย์ ใกล้เปิดใช้งานเร็วๆ นี้ ส่วนสนามบินกำลังหาสถานที่ที่เหมาะสมอยู่ และท่าเรือเกาะกงก็อยู่ระหว่างการขยายเพื่อใช้เทียบท่าทั้งเรือสินค้าและเรือประมง ระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นนี้จูงใจให้มาลงทุนเพิ่ม

 

รองประธานนิคมอุตสาหกรรม จ.เกาะกง ยํ้าอีกว่า ส่วนของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษดาราสาคร ที่มีกลุ่มนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนนั้น ก็ยังดำเนินการอยู่ โดยอยู่ระหว่างสร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนเก็บนํ้า ส่วนข่าวการถอนตัวของนักลงทุนจีนจากสีหนุ วิลล์ ก็เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเฉพาะกลุ่มนักลงทุนด้านการพนัน ที่รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายปราบปรามการพนันผิดกฎหมาย และยกเลิกใบอนุญาตที่อยู่ระหว่างยื่นขอทั้งหมด โดยเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจกัมพูชา ไทย และจีน ซึ่งอาจกระทบกับไทยบ้างเรื่องการทำงาน แต่ไม่มากนัก และต่อไปทุกอย่างต้องเข้าอยู่ในระบบกฎหมาย

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

อีกข่าวดีคือ การเจรจาเรื่องเขตเศรษฐกิจร่วมทางทะเลที่ยังไม่คืบหน้ามานาน แต่เมื่อฝ่ายทหารไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ร่วมหารือกับพล.อ.ฮุน มาเน็ต ผบ.สส. และผบ.ทบ.กัมพูชา มีแนวโน้มที่ดีระหว่าง 2 ประเทศนั้น นายธิติเดช กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหากสามารถสรุปและมีข้อตกลงกันได้ จะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะจ.ตราดและจ.เกาะกง ที่เป็นพื้นที่ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมั่นใจว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งความร่วมมือทั้งสองประเทศจะเกิดขึ้น

 

“วันนี้ทั่วโลกมีปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง การร่วมมือทำประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ที่ไม่ ใช่ของใครประเทศเดียว ร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมทำประโยชน์จะเป็นประโยชน์ของลูกหลานในอนาคต ผมไม่อยากเห็นการยกแต่เรื่องความมั่นคงมาอ้าง เพราะที่สุดก็หาข้อสรุปไม่ได้ จะบอกว่าพื้นที่นี้เป็นของใครฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ยอมรับให้เป็นพื้นที่ร่วมและทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันจะดีกว่า”

เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน

เป็นเสียงสะท้อนของนักธุรกิจไทยจากตราดคนหนึ่ง ที่ มองกลับเข้ามา ในฐานะผู้บริหารกลุ่มแอลวายพีกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับแนวหน้าและใกล้ชิดผู้นำประเทศกัมพูชามากที่สุด กลุ่มหนึ่ง 

 

จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5-7 มกราคม พ.ศ.2566