ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

03 ม.ค. 2566 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2566 | 17:49 น.
1.1 k

ส่องอนาคตสินค้าเกษตร ปี 2566 สศก ชี้ส่งออกข้าว ยังสดใส บังกลาเทศ ลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่ง -อินเดีย ขึ้นภาษีส่งออก 20% ทำให้คู่แข่งหันมาซื้อข้าวไทยเพิ่ม “ปาล์ม” นักท่องเที่ยวเพิ่ม ดันเพิ่มการบริโภค มันสำปะหลัง คู่ค้าต่อเนื่อง ยาง ลุ้นอานิสงส์จีน เปิดประเทศ 8 ม.ค.

สินค้าเกษตรไทยยังอยู่บนความเสี่ยง จากผลิตได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ และต้องพึ่งพาตลาดส่งออกที่ราคาขึ้นกับตลาดโลก และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ผันผวนในทุกปี ซึ่งราคาที่แกว่งขึ้น-ลงส่งผลกระทบต่อเกษตรกร รวมถึงภาครัฐที่ต้องนำงบประมาณมาช่วยบรรเทาผลกระทบในแต่ละปีหลายแสนล้านบาท

 

สำหรับทิศทางแนวโน้มสินค้าเกษตรหลักของไทยในปี 2566 จะเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ขอหยิบยกบทวิเคราะห์ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มานำเสนอ โดยเบื้องต้นทางสำนักวิจัยฯ ชี้ว่าในภาพรวมยังมีทิศทางที่ดีทั้งแง่ภาคผลิต และการส่งออก ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

 

ส่งออกข้าวทิศทางสดใส

ในสินค้า “ข้าว” ทางสำนักวิจัยฯ คาดในปี 2566 ไทยจะส่งออกได้ 7.5-8 ล้านตัน จากคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงกลางปี 2565 การค้าโลกกลับมาเป็นปกติ และราคาข้าวไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ มีคุณภาพดี และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เป็นที่ต้องการของตลาด

 

ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

 

สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกข้าวไทย เช่น รัฐบาลบังกลาเทศประกาศลดภาษีและอากรนำเข้าข้าวนึ่งเหลือร้อยละ 25 จากเดิมเก็บร้อยละ 62.5 เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศจากที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 8 ปี เป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวไทยรายที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการอาหารของบังกลาเทศ มีโอกาสเข้าร่วมประมูลข้าวในปีงบประมาณ 2565 - 2567(ตั้งแต่ 1 ก.ค.65 - 30 มิ.ย.67) จะส่งผลให้ข้าวไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

 

 

ราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้

 

ขณะที่ปัจจัยลบเช่น “เมียนมา” ได้กำหนดเป้าหมายส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน ภายในปี 2568 โดยเน้นที่พันธุ์ข้าวคุณภาพสูง เนื่องจากคาดการณ์ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศจีน สหภาพยุโรป และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

 

ปาล์มนํ้ามันบริโภคเพิ่ม

“ปาล์มนํ้ามัน” ปี 2566 คาดว่ามีเนื้อที่ให้ผลผลิต 6.20 ล้านไร่ ผลผลิต 18.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.15 ล้านไร่ ผลผลิต 18.42 ล้านตันในปี 2565 เนื่องจากราคาปาล์มนํ้ามันในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างดี เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่รกร้างหรือเปลี่ยนจากการปลูกพืชอื่นมาปลูกปาล์มนํ้ามัน อีกทั้งมีแรงจูงใจในการดูแลบำรุงสวนปาล์ม ทำให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

 

ทั้งนี้คาดความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อการบริโภคจะอยู่ที่ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.23 ล้านตันในปี 2565 ขณะที่ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อพลังงานทดแทน 1.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.94 ล้านตันในปี 2565 เนื่องจากในปี 2566 การดำเนินชีวิตของประชาชนได้เข้าสู่ภาวะปกติ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เช่นการท่องเที่ยว การขนส่ง ทำให้มีความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคและเพื่อพลังงานทดแทนมากขึ้น

 

ส่วนการส่งออกปี 2566 คาดว่าปริมาณส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทย จะอยู่ที่ประมาณ 8.9 แสนตัน มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1 ล้านตัน มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากคาดว่าราคานํ้ามันปาล์มในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

 

มันสำปะหลังส่งออกยังแกร่ง

 

“มันสำปะหลัง” ปี 2566 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 10.11 ล้านไร่ ผลผลิต 34.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 9.92 ล้านไร่ และผลผลิต 34.01 ล้านตัน โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ขยายพื้นที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งการโค่นต้นยางแก่เพื่อปลูกมันสำปะหลัง

ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

 

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าที่สำคัญ ยังมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยต่อเนื่อง

                  

ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

                                                                                                                                                    

“ยาง ” ลุ้นอานิสงส์จีน

 

“ยางพารา” ปี 2566 คาดผลผลิตยางพาราโลกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่ปลูกของกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพาราใหม่ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่เริ่มให้ผลผลิต ขณะความต้องการใช้ยางพาราของโลกคาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2565 จากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

 

ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 66 “ข้าว มัน ปาล์ม” สดใส

 

สำหรับประเทศไทย คาดราคายางในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามคาดการณ์ความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาในตลาดล่วงหน้า และตลาดในประเทศ แต่ยังต้องจับตาปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนและราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนอาจส่งผลกระทบต่อราคายาง อย่างไรก็ดีจากที่จีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมนี้ (คลิกอ่าน)  คาดหวังเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว และมีการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1-4 มกราคม 2566