"ส.เพื่อนชุมชน" หนุนอาชีวะรับตลาดแรงงานเมกะเทรนด์เคลื่อน ศก. อีอีซี

30 ธ.ค. 2565 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2565 | 23:28 น.

"ส.เพื่อนชุมชน" หนุนอาชีวะรับตลาดแรงงานเมกะเทรนด์เคลื่อน ศก. อีอีซี เดินหน้าสร้างมุมมองใหม่ให้เยาวชน ชี้สายอาชีพมาแรง อนาคตไกล ได้งานชัวร์

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า สมาคมเพื่อนชุมชนได้ดำเนินการจัดโครงการเพื่อนชุมชนคนอาชีวะ CPA V-Camp ปีที่ 4 เกาะกระแส Mega Trends (เมกะเทนรด์) สายอาชีพมาแรง อนาคตไกล ได้งานชัวร์ เพื่อสร้างมุมมองใหม่ในสายอาชีพให้กับเยาวชน 

 

รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ แนวทางการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trends)  ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ครูแนะแนว และครูฝ่ายวิชาการในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โอกาสงานใหม่ตามแนวทางแผนพัฒนาทักษะบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) โดยมีนักเรียนและครูเข้าร่วมกิจกรรม กว่า 500 คน จาก 20 สถาบันการศึกษา ณ วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี  จังหวัดระยอง
 

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้นจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งสมาคมฯ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้กับเยาวชน เห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงทาง  สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อระบบการศึกษา และตลาดแรงงาน ที่เป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

 

สมาคมเพื่อนชุมชนหนุนอาชีวะรับตลาดแรงงานเมกะเทรนด์เคลื่อนเศรษฐกิจอีอีซี

  • เทรนด์หุ่นยนต์ (Automation) 
  • สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 
  • เทรนด์ดิจิทัล
  • เทรนด์การจัดการสมัยใหม่ 

 

ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงการวางแผนเส้นทางการเรียนสายอาชีพ ให้กับเยาวชน พร้อมเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้เรียนและผู้ที่ประสบความสำเร็จจากสายอาชีพ และเป็นการเพิ่มโอกาสด้านการศึกษาต่อในสายอาชีพให้แก่เยาวชน
 

“สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาปิโตรเคมี/เทคนิคพลังงาน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาเหล่านี้เป็นสาขาที่มีความต้องการ ของตลาดแรงงานในพื้นที่ระยองเป็นจำนวนมาก” 

 

นายมนชัย กล่าวต่อไปอีกว่า สมาคมฯ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนจังหวัดระยองให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการศึกษา โครงการเพื่อนชุมชน คนอาชีวะ ปีที่ 4 จึงเป็นโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนสายอาชีพให้มากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้เรียนสายอาชีพได้รับความรู้ และมีความสามารถด้านวิชาชีพในระดับสากล 

 

อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากฐานของสังคมโดยแท้จริง จึงทำให้สถาบันต่าง ๆ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วประกอบอาชีพได้จริง ตอบโจทย์การทำงาน ต่อสถานประกอบการและภาคธุรกิจ รวมถึงสามารถยกระดับการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้านอุตสาหกรรม