รวม"ของขวัญปีใหม่ 2566"ประกันสังคม แบบเข้าใจง่าย ที่นี่

02 ม.ค. 2566 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2566 | 16:10 น.

รวม"ของขวัญปีใหม่ 2566"ประกันสังคม "ให้" สินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ "ให้" เข้าถึงการรักษา 5 โรค "ฟรี" ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการ

สำนักงานประกันสังคม มอบของขวัญปีใหม่ 2566 สำหรับผู้ประกันตน มีดังนี้

 

ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินรายละ 2 ล้าน

 

1. ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท

 

 สำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน โดยร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับธนาคารเดิม โดยมีวงเงินโครงการ 30,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้ผู้ประกันตนไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกันตนลดลงตลอดระยะเวลาการกู้ ดังนี้
         

 

  •  ปีที่ 1 – 5 อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่ 5 ปี

         

  • ปีที่ 6 – 8 อัตราดอกเบี้ย MRR – 2.00% ต่อปี

         

  • ปีที่ 9 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR – 0.5% ต่อปี

         

ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 – 19 ธันวาคม 2566 หรือจนครบวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามโครงการฯ สำหรับคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เข้าร่วมโครงการฯ  
          

ให้ เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 

 

2. ให้ เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 


สำนักงานประกันสังคม มีแนวคิดการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา โดยการปรับแนวทางการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ให้ผู้ประกันตนที่ป่วยและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการ นำร่องในกลุ่มโรคที่มีผู้ประกันตน เข้ารับการรักษามากที่สุด เพื่อลดการรอคอยการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตน สามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยเชิญชวนโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดทำบันทึกความตกลง เพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องรอคอยการผ่าตัด หรือการส่งตัวจากโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา และสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่บันทึกความตกลง 

 

ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ถือเป็นแนวทางที่ส่งเสริมและดึงดูดให้สถานพยาบาลที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานในการรักษาเข้าร่วมบริการผู้ประกันตน โดยมี การเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่  
         

1. โรคมะเร็งเต้านม
         

2. ก้อนเนื้อที่มดลูก
         

3. โรคนิ่วในไตหรือ ถุงน้ำดี
         

4. โรคหลอดเลือดสมอง
         

5. โรคหัวใจและหลอดเลือด  
         

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกันตนมาใช้บริการ ทั้งสิ้นจำนวน 7,500 คน
          
 

ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการ

 

3. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการ นำร่อง ใน 7 จังหวัด โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนในเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรค ค้นหาความเสี่ยง ด้านสุขภาวะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย ลดอาการเจ็บป่วยที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสถานประกอบการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่

 

  • จังหวัดสมุทรปราการ
  • จังหวัดชลบุรี
  • จังหวัดนนทบุรี
  • จังหวัดปทุมธานี
  • จังหวัดระยอง
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • จังหวัดสมุทรสาคร

 

ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้
         

1. เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ
         

2. แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย
         

3. โรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน
         

4. ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม


เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย เกิดต้นแบบด้านการบริการและป้องกันโรคในสถานประกอบการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย ของผู้ประกันตนต่อหัวเฉลี่ย รายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) วงเงิน 187.50 ล้านบาท  

 

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office