โอกาสทองสินค้าBCGไทย "พาณิชย์"แนะรุกตลาดแคนาดา

19 ธ.ค. 2565 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 17:39 น.

โอกาสทองสินค้า BCG ไทย "พาณิชย์" แนะรุกตลาดแคนาดาเน้นเจาะ GenZ มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ชี้สินค้าไทยตอบโจทย์

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการสำรวจลู่ทางการส่งออกให้กับสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต ประเทศแคนาดา ถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้ากลุ่ม BCG  (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในแคนาดา ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 10-25 ปี กำลังกลายเป็นกลุ่มที่นักการตลาดให้ความสำคัญที่สุด ทุกวันนี้ กลุ่ม Gen Z มีสัดส่วนสูงถึง 20 % ของประชากรในแคนาดา และได้กลายเป็นกลุ่ม ที่มีกำลังซื้อสูงกว่ากลุ่มรุ่นก่อน คือ Millennials ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลุ่ม Gen Z มีการใช้จ่ายในปี 2564 มูลค่าสูงถึง 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีแหล่งรายได้มาจากงานประจำ งานชั่วคราว หรือจากผู้ปกครอง

โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ทำให้นักการตลาดให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์สินค้าการตลาดต่าง ๆ ให้กับเข้ากับคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z เหล่านี้ ส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวรับรู้ถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ โดยกว่า 72% ของ Gen Z มองว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อน จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างมากในอนาคต ทัศนคติของคนกลุ่ม Gen Z ในเรื่องมุมมองความเชื่อของข้อมูลวิทยาศาสตร์แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ที่มองว่าสินค้าตัดต่อทางพันธุกรรม GMO อาจไม่ได้เลวร้ายหรือไม่เหมารวมอยู่ในกลุ่มสินค้าไม่ดีต่อสุขภาพ โดยคนกลุ่มนี้มองว่าวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การตัดต่อพันธุกรรมของพืช จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พื้นที่เพาะปลูก ลดการบุกรุกทำลายป่า ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ โดยคน Gen Z จะเชื่อมั่นในองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ นิยมค้นหาความรู้ด้วยตนเอง และกล้าเปิดใจ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ อาทิ สินค้า Plant Based หรือเนื้อสัตว์ที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง ไม่ใช่เป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากการทำปศุสัตว์”นายภูสิตกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่ม Gen Z ยังมองว่านโยบายเพื่อความยั่งยืนของบริษัท เป็นสิ่งขั้นต่ำพื้นฐานที่จะต้องมีอยู่แล้ว และจะค้นหาข้อมูลว่าบริษัทที่อ้างว่าใช้นโยบายยั่งยืนนั้น ทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ โดยจะไม่ค่อยเชื่อถือโฆษณามากนัก แต่จะเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์ หรือการรีวิวสินค้ามากกว่า และยังนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ควบคู่ออฟไลน์ การเข้าเยี่ยมร้านค้าปลีกเพื่อจับต้องสินค้า หรือต้องการมีประสบการณ์กับสินค้าและบริการโดยตรง ซึ่งผลการทำวิจัยจากบริษัท Hartman Group

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า Gen Z ได้ไปจับจ่ายใช้สอยภายในห้างค้าปลีกเฉลี่ย 2.5 ครั้งต่อสัปดาห์ กลุ่ม Millennials (อายุ 26-41 ปี) ไปจับจ่ายเพียง 1.9 ครั้งต่อสัปดาห์ และกลุ่ม Gen X (อายุ 42-57 ปี) 1.5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งกลุ่ม Gen Z นิยมให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถรับการชำระเงินหรือสั่งสินค้าได้หลายช่องทาง ทั้งมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งการซื้อสินค้าผ่านโทรทัศน์ (Smart TV) ที่เป็น Omnichannel Shopping Experience ในขณะที่ยังอยากเดินช้อปปิ้ง อยากจับต้องสินค้าภายในร้านอีกด้วย ทำให้นักการตลาดจะต้องเตรียมรูปแบบธุรกิจที่รองรับกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้

“ผู้บริโภคในแคนาดากลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีสัดส่วนของประชากรที่สำคัญ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด นักการตลาดจึงควรเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างถ่องแท้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับกลยุทธ์สินค้าให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยคนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับ BCG มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม คนกลุ่มนี้เน้นจริยธรรมของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในกลุ่ม BCG ที่จะผลักดันสินค้าของไทยเข้าไปเจาะตลาด โดยต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อปรับรูปแบบกลยุทธ์สินค้าและการตลาดตามให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น”