‘ไทย’ ถกประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป ปลุกโมเดลเศรษฐกิจ BCG

10 ธ.ค. 2565 | 20:23 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2565 | 03:31 น.

‘ไทย’ ดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ถกประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เตรียมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้า-การลงทุนร่วมภาคเอกชน วันที่ 12-15 ธ.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค.65 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

 

ขณะเดียวกันการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในกรอบอาเซียนที่มีการประชุมระหว่างผู้นำหรือผู้แทนอาเซียน 9 ประเทศ กับผู้นำหรือผู้แทนประเทศในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้แม้จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ แต่เป็นเพียงการพบกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานคณะมนตรียุโรปและประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำทั้งสองภูมิภาคทั้งอาเซียนกับสหภาพยุโรปจะได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาค และประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายด้านความมั่นคง การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล
 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีภารกิจสำคัญในการเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงช่วงอาหารกลางวัน (C-Suite Roundtable Luncheon) จัดโดยสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) ณ โรงแรมโซฟิเทล บรัสเซลส์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคเอกชนยุโรปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน โดยจะมีคณะของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA)

 

สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงในช่วงอาหารกลางวัน (C-Suite Roundtable Luncheon) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน จะมีการเน้นย้ำประเด็นความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่ม Global Gateway ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการระดมทุนมูลค่า 3 แสนล้านยูโร ที่จะนำไปลงทุนใน 5 ด้าน ได้แก่ พลังงานสะอาด ดิจิทัล คมนาคม สุขภาพ และการศึกษา-วิจัย
 

นอกจากนี้การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ นายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนให้สหภาพยุโรปมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสร้างบรรยากาศแห่งสันติภพ ที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งยึดมั่นต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค พร้อมผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป เป็นพลังเชิงบวกที่สร้างสรรค์แก่ทั้งสองภูมิภาคและประชาคมโลก รวมทั้งผลักดันความเป็นหุ้นส่วนสีเขียวระหว่างอาเซียนกับอียู (ASEAN-EU Green Partnership) เพื่อยกระดับความร่วมมือในเรื่องนี้ ซึ่งไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและมีบทบาทนำในอาเซียน