Food Delivery ปี 66 ส่อหดตัว หลังโควิดคลี่คลาย คาดมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้าน

16 ธ.ค. 2565 | 17:29 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2565 | 00:44 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักปี 2566 อาจหดตัว ท่ามกลางโจทย์ท้าทายในการรักษายอดขายของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery

ในระยะข้างหน้า เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ตามปกติ และผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น โดยผู้บริโภคกลับมานั่งทานอาหารในร้าน และซื้อกลับมาทานด้วยตนเองมากขึ้น ส่งผลให้บทบาทของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ปรับลดลง

Food Delivery ปี 66 ส่อหดตัว หลังโควิดคลี่คลาย คาดมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้าน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าตลาดในระยะข้างหน้าจะทรงตัวถึงหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2565 ผ่านปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การใช้บริการ Food Delivery ยังมีอยู่แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง สะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจที่พบว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างกว่า 37% ปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น อาหารในหมวดพื้นฐานและอาหารจานด่วน น่าจะเป็นกลุ่มที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค

 

 

ขณะที่กลุ่มประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อลง ได้แก่ เครื่องดื่มและเบเกอร์รี่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้สะดวกเมื่อกลับไปทำงานตามปกติ ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์มีแนวโน้มทรงตัวหรือสูงขึ้น โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ราคาอาหารเฉลี่ยต่อหน่วยและค่าบริการจัดส่งอาหารอาจมีการปรับเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมความเคยชินของผู้บริโภคบางกลุ่มและการทำตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร จะช่วยให้ในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงมีต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2563-2565 ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารหรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การดึงกลุ่มลูกค้าเก่าให้ใช้งานต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอแพคเกจรายเดือน และการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการฝากซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ(Mart) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็มีการกระจายฐานธุรกิจไปอย่างหลากหลาย ทำให้การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ช่วยให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้รับประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของผู้บริโภค อาทิ ระบบจัดการร้านอาหาร (POS) ธุรกิจเรียกรถรับส่ง (Ride-hailing) และธุรกิจการจองที่พัก เป็นต้น

ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1 – 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 0.8% - 6.5% (จากฐานที่สูงในปี 2565) อย่างไรก็ดี มูลค่าธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักดังกล่าวก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดอย่างมาก โดยทิศทางการหดตัวลงดังกล่าวเกิดขึ้นสอดคล้องไปกับภาพอุตสาหกรรม Food Delivery ในหลายประเทศที่มีการปรับลดลงหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดฟื้นตัวดีขึ้น