เปิดจุดเชื่อมต่อ “สายสีชมพู-สายสีเหลือง” จ่ายค่าแรกเข้า-ค่าโดยสาร เท่าไร

16 ธ.ค. 2565 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 23:35 น.
1.3 k

“คมนาคม” เปิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีชมพู-สายสีเหลือง เริ่ม 15-45 บาท หลังปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค เผยเปลี่ยนเส้นทาง-เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย จ่ายค่าแรกเข้าเท่าไร ที่นี่มีคำตอบ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงและโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ปี 2559 เริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 42 บาท โดยจะมีการปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (Non-Food & Beverages) ของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ 

 

ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารดังกล่าว อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของ CPI  ซึ่งก่อนเปิดให้บริการจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค 3 เดือน ก่อนวันที่เริ่มให้บริการที่ก่อให้เกิดรายได้ในการปรับอัตราดังกล่าวโดยเมื่อใช้ CPI ปัจจุบันที่ประกาศ คาดว่าจะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะปรับใช้อัตราค่าโดยสารตาม CPI ในเดือนมีนาคม 2566  ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะปรับใช้อัตราค่าโดยสารตาม CPI ในเดือนพฤษภาคม 2566
 

ขณะที่ค่าแรกเข้าของโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย จะใช้ค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิงในอัตราเริ่มต้นเป็นค่าแรกเข้าระบบ หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยระบบที่ผู้โดยสารขึ้นก่อนเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า

เปิดจุดเชื่อมต่อ “สายสีชมพู-สายสีเหลือง” จ่ายค่าแรกเข้า-ค่าโดยสาร เท่าไร

“กรณีที่ผู้ใช้บริการมีการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาเชื่อมต่อที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 14 บาท เพียงครั้งเดียวให้กับผู้ที่ได้รับสัมปทานเดินรถของสายสีม่วง หากมีการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาทให้กับผู้รับสัมปทานเดินรถของสายสีชมพู”
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ขณะที่การเก็บค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันยังติดปัญหาการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มีเจ้าของโครงการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งไม่ใช่รถไฟฟ้าที่อยู่ในโครงข่ายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบื้องต้นจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาเห็นชอบการเก็บค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายดังกล่าวที่เชื่อมต่อระหว่างกันเพียงครั้งเดียว ภายในเร็วๆนี้  

 

สำหรับจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า-ค่าแรกเข้ามาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู


1.เดินทางจากรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 17 บาท โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีม่วงจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า 

 

2.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีชมพูจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า

 

3.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีหลักสี่ ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 14 บาท ซึ่งเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ดำเนินการเดินรถโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในรูปแบบการจ้างเดินรถชั่วคราวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า เมื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะถูกเก็บค่าแรกเข้าอีกครั้ง จำนวน 15 บาท 

 

4.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริเวณสถานีหลักสี่ ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีชมพูจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า  เมื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง จะถูกเก็บค่าแรกเข้าอีกครั้ง จำนวน 14 บาท 

 

5.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บริเวณสถานวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูหรือเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะยังถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีชมพูจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า เนื่องจากในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของและมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ภายใต้กลุ่มบีทีเอส เป็นผู้ดูแลระบบให้บริการการเดินรถทั้งหมด ปัจจุบันยังคงเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี 

เปิดจุดเชื่อมต่อ “สายสีชมพู-สายสีเหลือง” จ่ายค่าแรกเข้า-ค่าโดยสาร เท่าไร

จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า-ค่าแรกเข้ามาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

1.เดินทางจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน บริเวณสถานีลาดพร้าว ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 17 บาท โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า

 

2.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณสถานีลาดพร้าว ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีเหลืองจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า 

 

3.เดินทางจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บริเวณสถานีหัวหมาก ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นผู้ให้บริการการเดินรถ ซึ่งเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า 

เปิดจุดเชื่อมต่อ “สายสีชมพู-สายสีเหลือง” จ่ายค่าแรกเข้า-ค่าโดยสาร เท่าไร

4.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณสถานีหัวหมาก ถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีเหลืองจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า เมื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าอีกครั้ง จำนวน 15 บาท 

เปิดจุดเชื่อมต่อ “สายสีชมพู-สายสีเหลือง” จ่ายค่าแรกเข้า-ค่าโดยสาร เท่าไร

5.เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สำโรง (สายสุขุมวิท) บริเวณสถานีสำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหรือเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สำโรง (สายสุขุมวิท) จะยังถูกเก็บค่าแรกเข้า จำนวน 15 บาท โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ที่ได้รับสัมปทานสายสีเหลืองจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า เนื่องจากในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของและมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ภายใต้กลุ่มบีทีเอส เป็นผู้ดูแลระบบให้บริการการเดินรถทั้งหมด ปัจจุบันยังคงเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี