อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

22 ต.ค. 2565 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2565 | 16:48 น.
1.9 k

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑลล่าสุด อยู่ในมือใคร หน่วยงานรัฐ-เอกชน รายใดได้รับสัมปทานบ้าง พร้อมเปิดแผนให้บริการได้เมื่อไร

ปัจจุบันการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนกทม.และปริมลฑลไปแล้ว เนื่องจากเป็นระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่สามารถให้ความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งกำหนดเวลาเดินทางได้ง่ายกว่าเดิม

 

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล สายไหน-เส้นทางใด มีใครได้รับสัมปทานบ้าง

 

การบริหารงานในการให้บริการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ผู้ที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเป็นผู้ให้บริการการเดินรถด้วยตนเอง
  2. ผู้ที่เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าว่าจ้างให้บริษัทอื่นดำเนินการให้บริการแทน

ปัจจุบันรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมลฑลมีทั้งหมด  9 สาย

1. “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี ดำเนินการโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัมปทานของกรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2542 ปัจจุบันได้เปิดให้บริการ 60 สถานี ระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส แบ่งผู้รับสัมปทานแต่ละเส้นทาง ดังนี้

1. สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-สำโรง มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการฯและมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ดูแลระบบให้บริการการเดินรถทั้งหมด ระยะทางรวมประมาณ 23.7 กิโลเมตร สถานีเป็นแบบยกระดับหรือแบบลอยฟ้าทั้งหมด 23 สถานี

 

 2. สายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการฯและมอบสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ดูแลระบบการเดินรถทั้งหมด ระยะทางรวมประมาณ 14.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีสยาม ปัจจุบันมี 13 สถานี

 

รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS

 

 3. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยเปิดให้บริการครั้งแรกในส่วนของสถานีห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 และเปิดต่อไปยังสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 และไปจนถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 16 ธันวาคม 2563

 

ในช่วงแรกเป็นการทดลองเดินรถและยังไม่ได้จัดเก็บค่าโดยสาร โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ มีระยะทางรวม 19 กิโลเมตร เป็นรูปแบบยกระดับทั้งหมด เชื่อมต่อกับ BTS สายสีเขียวที่สถานีหมอชิต มี 16 สถานี

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ครม.มีมติเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ โดยกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ทำให้ยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้

2. รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน เริ่มทดลองเดินรถในปี 2563 และเปิดให้บริการจริงในปี 2564 มีกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของและ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้บริการเดินรถ ในระยะที่ 1 มีระยะทางรวม 1.74 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร (เชื่อม ICONSIAM), สถานีคลองสาน

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

ส่วนระยะที่ 2 มีระยะทาง 0.88 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก ปัจจุบันทางกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ยังไม่ได้สนับสนุนงบลงทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 คาดว่าติดปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มากลดลงอยู่ที่ 846-1,547 เที่ยว-คนต่อวัน ทำให้ไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงการฯ ระยะที่ 2

 

3. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง เปิดให้บริการเมื่อปี ปี 2547 ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ และมอบสัมปทานการเดินรถให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ดูแล มีระยะทางตลอดสายประมาณ 21 กิโลเมตร สำหรับจำนวนสถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 18 สถานี และยกระดับอีก 1 สถานี

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

4. รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เตาปูน - คลองบางไผ่ รถไฟฟ้าช่วงดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายจาก MRT สีน้ำเงิน ซึ่งรถไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากวิ่งใต้ดินขึ้นมาวิ่งบนดินที่สถานี บางซื่อ ไปยังสถานีสถานีเตาปูน เปิดให้บริการ เมื่อปี 2559 โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของ และมอบสัมปทานการเดินรถให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีระยะทางรวม 23 กิโลเมตร มีจำนวน 16 สถานี

 

5. รถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศตัวผู้ชนะการประมูล มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทานตลอดเส้นทางทั้งด้านตะวันตกและด้านตะวันออกของโครงการฯ โดยจะอยู่ภายใต้การร่วมลงทุนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก – ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

 1.เส้นทางตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี โดยจะเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด ปัจจุบัน BEM เตรียมลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างงานโยธาและการจัดหาระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570

 

2.เส้นทางตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568

 

6. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท - สุวรรณภูมิ เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2553 เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือชื่อเดิมบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เป็นผู้ให้บริการการเดินรถ โดยสัญญาสัมปทานโครงการจะหมดในปี 2612 โดยเป็นรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟเชื่อม3สนามบิน

 

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit) ทางวิ่งยกระดับที่ความสูง 20 เมตร ตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าจะลดลงเป็นระดับดินหลังข้ามถนนสุวรรณภูมิ 2 แล้วลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน ระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร มีทั้งหมด 8 สถานี

 

7. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รถไฟฟ้าสายชานเมือง) ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการเมื่อปี 2564 เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการเดินรถโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในรูปแบบการจ้างเดินรถชั่วคราวจาก เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางวิ่งทั้งระดับดิน (At grade level) ยกระดับ และใต้ดิน ผสมกันตลอดเส้นทาง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสาย “ธานีรัถยา” ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 สถานี

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

8. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (รถไฟฟ้าชานเมือง) ช่วงนครปฐม – บางซื่อ – ฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการในปี 2564 เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการเดินรถโดย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในรูปแบบการจ้างเดินรถชั่วคราว เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางวิ่งทั้งระดับดิน (At grade level) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เรียกอีกชื่อว่าสายนครวิถี ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 สถานี และ 1 สถานีร่วม

 

9. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งบริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์โดยมี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งมีรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับรางเดี่ยว ระบบโมโนเรลแบบอัตโนมัติไร้คนขับที่ผลิตโดยบอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี โดยจะเปิดให้บริการเดินรถอย่างเต็มรูปแบบในปี 2566

 

10. รถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือ ตลอดจนถึงพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งบริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์โดยมี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยทั้ง 2 สาย ถือเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลแห่งแรกในไทย

อัพเดท 10 เส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ในมือใคร เปิดเมื่อไหร่

 

 รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี มีโครงสร้างสถานีเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ซึ่งมีรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับรางเดี่ยว ระบบโมโนเรลแบบอัตโนมัติไร้คนขับที่ผลิตโดยบอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตลอดสายครบทุกสถานีประมาณเดือน ก.ค.2566