สร้างพลัง "Soft Power" ดันฮาลาลเพชรประเทศไทยสู่ระดับสากล

15 ธ.ค. 2565 | 18:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 01:39 น.

สร้างพลัง "Soft Power" ดันฮาลาลเพชรประเทศไทยสู่ระดับสากล รุกคืบจัดThailand Halal Assembly 2022 ผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการจัดงาน Thailand Halal Assembly 2022 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของกิจการฮาลาลในประเทศไทย ผ่านแนวคิด Soft Powering of Halal Science, Technology and Innovation 

 

อีกทั้งจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนารากฐานงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ การศึกษา ธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม ชุมชนในปัจจุบัน เพื่อก้าวสู่อนาคตยุคเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย เพราะรับรู้กันว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือวิทยาการอันนำไปสู่ผลิตภัณฑ์

 

และกิจกรรมที่เด่นด้วยบุคลิกทางกายภาพอันสัมผัสได้ บ่งชี้ความเป็น พลังกร้าน (Hard Power) อย่างเด่นชัด โดยเมื่อรวมความเป็นฮาลาลเข้าไว้ภายใน ความกร้านเหล่านั้นกลับถูกแต่งแต้มด้วยคุณค่าเชิงจิตวิญญาณ แปรเปลี่ยนพลังกร้านเป็นพลังละมุน (Soft Power) ที่แสดงความสูงส่งทางคุณค่าเชิงสัญญะได้อย่างน่าอัศจรรย์ 
 

ยิ่งผสานความเป็นไทยเพิ่มเติมเข้าด้วยแล้ว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลแห่งแผ่นดินเหล่านี้ต่างเปล่งประกายแสดงความเป็นฮาลาลเพชรประเทศไทย (Thailand Diamond Halal) ได้

 

สำหรับ Thailand Halal Assembly 2022 เป็นงานที่รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮาลาล โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ผ่านความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย 

 

สร้างพลัง "Soft Power" ดันฮาลาลเพชรประเทศไทยสู่ระดับสากล

 

อย่างไรก็ดี ภายในงานประกอบด้วย งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล The International Halal Science and Technology Conference (IHSATEC) 2022: the 15th Halal Science Industry and Business (HASIB)) Conference เป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาลครั้งที่ 8 (The 8th International Halal Standards and Certification Convention, IHSACC) ร่วมกับเลขาธิการกรรมาธิการวิชาการมาตรฐานฮาลาลภายใต้สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนขององค์กรรับรองฮาลาลประเทศต่างๆ กว่า 50 องค์กร  ในธีมของ "การพัฒนามาตรฐานฮาลาลเพื่อรองรับแนวโน้มของผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ในอนาคต" โดยมีขอบข่ายการประชุม 8th IHSACC ดังนี้

  • นโยบายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ การปรับเทียบ การให้การรับรอง การรับรองคุณภาพ และ มาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของมาตรฐานฮาลาลสำหรับแนวโน้มอาหารในอนาคต
  • การสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวฮาลาลและการบริการที่เกี่ยวข้อง
  • ระบบติดตามและระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับความยั่งยืนของฮาลาล
  • อดีต สถานะปัจจุบัน และสิ่งที่คาดหมายของมาตรฐานฮาลาลในอนาคต

 

 

อีกทั้ง มีการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “Soft Powering of Halal Science, Technology, and Innovation” เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลถือเป็น Soft Power หรือ พลังละมุนของประเทศไทยที่มีต่อการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการฮาลาลสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อนานาประเทศ รวมถึงเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของฮาลาลประเทศไทย

 

"งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2565 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชั้น 8 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทางออนไลน์ โดยมุ่งหวังสร้างมิติใหม่ของฮาลาลให้ฮาลาลไทยเป็นต้นแบบของฮาลาลทั่วโลก"