“คมนาคม” ดันไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง ขึ้นแท่นฮับอาเซียน 3 ปี

15 ธ.ค. 2565 | 15:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 22:59 น.

“คมนาคม” เล็งดันไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง ขึ้นแท่นฮับอาเซียนภายใน 3 ปี เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากร ดึง 5เอกชนจากฝรั่งเศส รุกนวัตกรรมใหม่ หนุนรถไฟ EV เตรียมเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ ไร้มลพิษ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลา เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

“คมนาคม” ดันไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง ขึ้นแท่นฮับอาเซียน 3 ปี

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง (Rail Academy) ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง 2.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศส และภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ (Local Content) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
 

3.การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศส และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) การถ่ายทอด และการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีหลังจากนี้ ดังนั้นเวลานี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับความรู้ และเทคโนโลยีจากหลากหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากจะนำความรู้เพื่อมาใช้ผลิตบุคลากรในการเตรียมรองรับทางคู่ 4 พันกิโลเมตร(กม.) ทั่วประเทศ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระดับอาเซียนด้วย

“คมนาคม” ดันไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง ขึ้นแท่นฮับอาเซียน 3 ปี

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนอกจากกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยมีแผนจะให้พื้นที่ของ รฟท. โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ปลอดมลพิษ ซึ่งในอนาคตจะมีการย้ายโรงซ่อมรถไฟออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใดจึงจะเหมาะสมที่สุด เบื้องต้นคาดว่าจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ จ.สระบุรี ขณะเดียวกันยังเน้นให้ รฟท. พัฒนาพื้นที่ของ รฟท. เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น  รวมทั้งเร่งจัดหารถไฟพลังงานไฟฟ้า (EV) เข้ามาให้บริการประชาชนโดยเร็ว
 

ทั้งนี้ในช่วงกลางเดือน ม.ค.66 จะนำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชน ร่วมทดลองนั่งรถไฟ EV ซึ่งเป็นรถไฟที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ โดยเป็นความร่วมมือของ รฟท., สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งหากทดสอบแล้วเป็นผลสำเร็จ สามารถเดินรถ และลดมลภาวะได้จริง จะถือเป็นการปฏิวัติเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟไทยในการใช้พลังงานแบตเตอรี่ และจะมีการเร่งขยายผลต่อไป เพราะในปี 66 รฟท. จะย้ายการให้บริการรถไฟทางไกลมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ด้วย จึงจำเป็นต้องใช้รถประเภทดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะภายในสถานี

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท ประกอบด้วย 1. บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และมีระบบการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน, 2. บริษัท อัลสตอม ผู้นำด้านการคมนาคมขนส่ง ด้วยระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, 3. บริษัท วอสส์โลห์ โคจิเฟอร์ เอส.เอ ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบราง ทั้งส่วนประกอบหลัก การปรับแต่งโมดูล และการดูแลรักษา

 

4. บริษัท ซิสตร้า เอ็ม วี เอ (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มวิศวกรรมและที่ปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านคมนาคมและการขนส่งระดับโลก ครอบคลุมงานก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม การออกแบบสถานี และระบบตั๋วโดยสาร และ 5. บริษัท โพมา เอสเอเอส ผู้เชี่ยวชาญการผลิตกระเช้าลอยฟ้า และให้บริการระบบขนส่งทั้งในเมือง พื้นที่ในหุบเขา พื้นที่ท่องเที่ยว และระบบการขนส่งในโรงงาน.