กุ้งไทยเล็งเพิ่มผลผลิตปี 66 เป็น 3 แสนตัน จี้พรรคการเมืองดันนโยบายฟื้นอุตฯ

14 ธ.ค. 2565 | 14:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 23:43 น.

ผลผลิตกุ้งไทยปี 65 วืดเป้าทำได้แค่ 2.8 แสนตัน ผลพวงยังมีโรคระบาดในทุกภาค ขณะส่งออกได้มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 5% เล็งเป้าท้าทายปี 66 เพิ่มผลผลิตเป็น 3 แสนตันหนุนแปรรูปส่งออก เรียกร้องพรรคการเมืองกำหนดนโยบายพลิกฟื้นอุตฯกุ้งทวงคืนเสียโอกาสช่วง 10 ปี กว่า 5 แสนล้าน

รายงานข่าว (14 ธ.ค. 2565)จากสมาคมกุ้งไทย เผยว่า นายเอกพจน์  ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทยได้นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทยเปิดแถลงข่าว โดยได้รายงานสถานการณ์กุ้งของไทยในรอบปี 2565 ว่า มีผลผลิตโดยรวมอยู่ที่  280,000  ตัน เท่ากับในปีที่ผ่านมา(จากคาดการณ์ปี 2565 จะมีผลผลิตประมาณ 3 แสนตัน) เป็นผลจากการเลี้ยงกุ้งของเกษตรยังคงเผชิญกับปัญหาเรื่องโรคกุ้ง และสภาพอากาศไม่อำนวย

 

ในจำนวนผลผลิตกุ้งดังกล่าว เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 32  ภาคตะวันออก ร้อยละ 25  ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันร้อยละ 21 ภาคกลาง ร้อยละ 12  และภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยร้อยละ 10 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดจะอยู่ที่ประมาณ  4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อน

คาดการณ์ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโลกปี 2565

 

โดยประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้วและเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะเอกวาดอร์ ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม ผลิตกุ้งได้ลดลง อินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น  ส่วนจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นหลังมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น เป็นต้น

 

สำหรับการส่งออกสินค้ากุ้งของไทย ตัวเลขล่าสุดช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 มีปริมาณ 122,208  ตัน มูลค่า 42,812 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 128,758  ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท โดยปริมาณลดลงร้อยละ 5 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9  ทั้งนี้นายกสมาคมกุ้งไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ผลผลิตกุ้งไทยจะอยู่ที่ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีนี้ร้อยละ 7

การส่งออกกุ้งไทยช่วง 10 เดือนแรกปี 2565

 

ด้าน นายปกครอง  เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันในปี2565 คาดจะมีผลผลิตประมาณ 58,200 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 2 โดยพบการเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาวจำนวนมากในช่วงต้นปี และเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว ยังเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด เกษตรกรบางส่วนที่เลี้ยงกุ้งขาวไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ต เปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น

 

นางสาวพัชรินทร์   จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 69,900 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12 โดยสภาวะอากาศแปรปรวนในช่วงต้นปี ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว และฝนที่มาเร็วกว่าปกติและตกหนัก ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยง บางพื้นที่เกิดน้ำท่วม และหลังน้ำลดเกิดปัญหาโรคระบาดหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาวตามมา เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้งเนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเต็มต่ำ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และยังพบอาการขี้ขาวในบ่อกุ้งระหว่างการเลี้ยง ทำให้ต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ผลผลิตต่อไร่ต่ำ

 

ขณะที่นายพิชญพันธุ์   สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งปี 2565 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 89,402 ตัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้งอย่างต่อเนื่องเนื่องจากราคากุ้งดี แต่ช่วงต้นปีพบมีความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว สภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความเสียหายจากโรคขี้ขาว เกษตรกรบางส่วนได้หันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

 

ด้านนายปรีชา  สุขเกษม กรรมการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า  ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทยปี 2565 ประมาณ  28,400 ตัน  ลดลงร้อยละ 21 จากเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี ทำให้ผลผลิตลดลงมาก เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ประกอบกับมีโรคตัวแดงดวงขาวระบาดรุนแรงในช่วงต้นปี ฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความเค็มต่ำ ทำให้การเลี้ยงกุ้งประสบปัญหามากกว่าทุกปี

 

ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สมาคมกุ้งไทย และตัวแทนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตลอดสายห่วงโซ่การผลิตได้เข้าพบ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต่อมาได้ยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ โดยออกมาตรการแก้ปัญหาการเลี้ยง โดยเฉพาะในเรื่องโรคต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งโดยเร่งด่วน เพื่อพลิกฟื้นผลผลิต และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

 

กุ้งขาวแวนนาไม

 

เป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบกุ้งให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 เพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยจากข้อมูลในปี 2565 แม้จะรัฐบาลโดยกรมประมงมีความพยายามดำเนินการในหลายด้าน เพื่อแก้ไขปัญหา แต่อาจด้วยข้อจำกัด ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ ทำให้โรคกุ้งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในภาพรวม

 

นายเอกพจน์  ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย

 

นายเอกพจน์  ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวช่วงท้ายว่า ทางสมาคมฯขอเสนอไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า ให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่เคยทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้าน มีผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งทางตรงทางอ้อมและครอบครัวกว่า 1 ล้านคน

 

แต่ 10 กว่าปี หลังเกิดโรคระบาดในกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทยได้สูญเสียโอกาสและรายได้จากการส่งออกถึง 5 แสนล้านบาท ดังนั้น พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลหน้า จะต้องกำหนดเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะโรคกุ้ง เพื่อพลิกฟื้นและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้านบาทหรือกว่าแสนล้านบาทให้ได้เหมือนในอดีต