เปิดผลงานรัฐบาล "ชุมชนไม้มีค่า" เฟสแรก เพิ่มพื้นที่สีเขียว 1.07 แสนไร่  

13 ธ.ค. 2565 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 05:44 น.
548

เปิดผลงานรัฐบาล "โครงการชุมชนไม้มีค่า" เฟสแรก ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน 1.43 แสนต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวป่าเศรษฐกิจ 1.07 แสนไร่

13 ธันวาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ ครม.มีมติ เมื่อ 18 กันยายน 2561 เห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายระยะ 10 ปี เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ด้วยการปลูกไม้มีค่าครัวเรือนละ 400 ต้น ส่งผลให้มีจำนวนต้นไม้ 1,040 ล้านต้น ได้พื้นป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1,040 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ต้นไม้มีค่า มี 58 ชนิด เช่น 1.สัก 2.พะยูง 3.เต็ง 4.รัง 5.มะขามป้อม 6.จามจุรี 7.สัตบรรณ 8.ตะเคียนทอง 9.นางพญาเสือโคร่ง 10.มะขาม ซึ่งในวันนี้ ครม.ได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562 - 2564) กล่าวคือ

1.มีการปลดล็อกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ 

  • กรมป่าไม้ออกพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 เพื่อปลดล็อกไม้หวงห้าม จากเดิมที่กำหนดให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ป่าเป็น "ไม้หวงห้าม" 
  • จัดทำระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือปลูกไม้ยืนต้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2565 
  • ผลักดันการลดภาษีและยกเว้นภาษีสำหรับไม้ ไม้แปรรูปและของทำด้วยไม้

 

2.เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ กรมป่าไม้เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 243.8 ล้านกล้าไม้ และได้จัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชนใน 730 ชุมชน ซึ่งสามารถผลิตกล้าไม้ได้ชุมชนละ 20,000 กล้าไม้ รวมทั้งสิ้น 14.6 ล้านกล้าไม้

3.วิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น

  • ฐานข้อมูล “ชนิดไม้มีค่าที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และแปลงสาธิตการปลูก”
  • พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้เพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
  • พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแม่นยำทางป่าไม้ (Precision Forestry) เพื่อสนับสนุนการจัดการและการประเมินมูลค่าไม้
  • ใช้ประโยชน์จากไม้ขนาดเล็ก เศษไม้ ปลายไม้ เพื่อการสร้างบ้าน อาคาร เฟอร์นิเจอร์ เชื้อเพลิงอัดเม็ดและพลังงาน

 

4.การขยายผลในพื้นที่ทั่วประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ขยายผลและสื่อสารสร้างการรับรู้และเข้าใจมีชุมชนเข้าร่วมโครงการผ่านกิจกรรมป่าครอบครัว 1,218 ราย ในพื้นที่ 15,123 ไร่ สามารถดำเนินการชุมชนไม้มีค่า คิดเป็นมูลค่า 227.74 ล้านบาท และการใช้ประโยชน์ทางอ้อมผ่านการประเมินมูลค่าระบบนิเวศสะสม พ.ศ.2562-2564 คิดเป็นมูลค่า 1,202.38 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,430.12 ล้านบาท

 

5.ประเมินมูลค่าการตลาดและแปรรูป อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สร้างมูลค่าเพิ่มชุมชนไม้มีค่า 321 ชุมชน มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้และป่าไม้ประมาณ 90 ล้านบาท และได้ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนประมาณ 4.68 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์

 

รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรในการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน เบื้องต้นได้สนับสนุนเฉพาะในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ 292 ต้น และให้มูลค่าหลักประกันแก่เกษตรกรที่ใช้ต้นไม้ยื่นกู้คิดเป็นมูลค่า 3.1 ล้านบาท

 

ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนผ่านกลไกอื่น ๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการจดทะเบียนการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2562  ถึง 31 ธ.ค.2564 จำนวน 1.43 แสนต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 136.83 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ความสำเร็จจากการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะในส่วนป่าเศรษฐกิจประมาณ 1.07 แสนไร่ สร้างความสมดุลของระบบนิเวศจากฐานความหลากทางชีวภาพในพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ และสามารถลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย 

 

ทั้งนี้ แผนการดำเนินโครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565 - 2567) คาดว่า จะเกิดชุมชนไม้มีค่าเพิ่มขึ้น 4,969 ชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ 4,650 ครัวเรือน มีต้นไม้เพิ่มขึ้น 60 ล้านต้น และมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 14,040 ไร่