‘เบบี้ กิ๊ฟ’ รุกตลาดสินค้าแม่และเด็ก ปักหมุดช้อปปิ้งสโตร์ 4 มุมเมือง

11 ธ.ค. 2565 | 19:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 02:48 น.

ตลาดค้าปลีกสินค้าแม่และเด็กโตสวนกระแส “เบบี้ กิ๊ฟ” ขนทัพสินค้าวางขายผ่านช้อปปิ้งสโตร์แห่งใหม่ รองรับกำลังซื้อย่านปิ่นเกล้า ราชพฤกษ์ พร้อมขยายเพิ่ม 4 มุมเมืองใน 5 ปี มั่นใจปี 66 โกยยอดขายทะลุ 180 ล้าน

นางอรุณศรี พิริยเลิศศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบบี้ กิ๊ฟ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดสินค้าสำหรับแม่และเด็ก มีการเติบโตสูงขึ้นจากความต้องการของกลุ่มครอบครัว ซึ่งปัจจุบันพบว่า ครอบครัวรุ่นใหม่จะมีบุตรน้อยลง การเลือกสรรสินค้าเพื่อการดูแลแม่และเด็กจึงมีมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันจากการศึกษาตลาดพบว่า ลูกค้านิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีสินค้าครบครัน ดังนั้นบริษัทจึงเปิดตัว “เบบี้กิ๊ฟ แฟล็กชิพสโตร์ สาขาปิ่นเกล้า-ราชพฤกษ์” ช้อปปิ้งสโตร์ สินค้าแม่และเด็กครบวงจรในรูปแบบสแตนด์อะโลน บนพื้นที่ 400 ตารางเมตร เพื่อรองรับกำลังซื้อในย่านปิ่นเกล้า-ราชพฤกษ์

อรุณศรี พิริยเลิศศักดิ์               

“จากพฤติกรรมลูกค้าที่มาใช้บริการทำให้เรารู้ว่า ลูกค้าต้องการอะไร และสามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการ นั้นๆ โดยที่เบบี้กิ๊ฟ แฟล็กชิพสโตร์ฯ แห่งนี้ ใช้งบลงทุน 8 ล้านบาท มีสินค้าที่หลากหลายทั้งแบรนด์จากเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ด้วยจุดเด่นที่มีความเป็นส่วนตัว สะดวกสบาย ตกแต่งในสไตล์โฮมมี่ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งมีลูกน้อย ดังนั้นทุกพื้นที่จะมีความปลอดภัย และแตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ”

 

โดยภายในสโตร์แห่งนี้ จะจัดแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซน Car Seat ศูนย์รวมคาร์ซีทแบรนด์ดังหลากหลายรุ่น ตั้งแต่ลูกแรกเกิดไปจนถึงลูกโต ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมัน พร้อมเก้าอี้ให้ทดลองติดตั้งจริงอย่างถูกวิธี โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำเพื่อให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ได้นั่งคาร์ซีทอย่างถูกต้องปลอดภัยที่สุด

              

โซน Stroller ศูนย์รวมรถเข็นทุกแบรนด์ดัง ตั้งแต่รถเข็นเด็กแรกเกิด รถเข็นพับเล็ก รถเข็นพร้อมกระเช้าคาร์ซีท ที่คิดค้นวิจัยโดยทีมกุมารแพทย์ ออกแบบตามสรีระศาสตร์ของทารก

‘เบบี้ กิ๊ฟ’ รุกตลาดสินค้าแม่และเด็ก ปักหมุดช้อปปิ้งสโตร์ 4 มุมเมือง

โซน For Mommy แหล่งรวมเครื่องปั๊มนมหลากหลายแบรนด์ดัง คุณแม่สามารถทดลองใช้งานได้จริง เพื่อให้ได้เครื่องปั๊มนมที่ตรงกับความต้องการของคุณแม่ที่สุด พร้อมมีผลิตภัณฑ์ของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่เตรียมคลอด เป็นต้น

              

โซน Clean & Care ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่ดีสำหรับเด็กจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีสินค้าสำหรับเด็กทุกช่วงวัย เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกรัก

 

โซน Bath Time รวมอุปกรณ์อาบน้ำและดูแลผิวลูกรัก ทั้ง อ่างอาบน้ำ ที่รองอาบน้ำ พร้อมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับลูกตั้งแต่วัยแรกเกิด มีให้เลือกหลากหลายตามความต้องการของคุณแม่

 

โซน Yummy Yummy จัดเต็มไปด้วยขวดนม จุกนม อุปกรณ์ทำอาหารเด็ก อุปกรณ์สำหรับการรับประทาน และผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็ก ให้เลือกสรรสำหรับเด็กทุกช่วงวัย

‘เบบี้ กิ๊ฟ’ รุกตลาดสินค้าแม่และเด็ก ปักหมุดช้อปปิ้งสโตร์ 4 มุมเมือง               

โซน Sleep Tight แหล่งรวมเตียงนอนทารก มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการประกอบเตียงอย่างถูกวิธี ทั้ง เตียงนอนเปิดข้างได้ คอกกั้นเด็ก เปลไกวไฟฟ้า

 

โซน Play & Learn พื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กๆ มีของเล่นตามช่วงวัย

 

โซน Breastfeeding Room ห้องให้นมสำหรับคุณแม่ หรือใช้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยได้อย่างสะดวกเป็นส่วนตัว ตอบโจทย์คุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยนมแม่ หรือ คุณแม่ที่มีลูกเล็กจำเป็นต้องใช้พื้นส่วนตัว ซึ่งร้านขายสินค้าแม่และเด็กทั่วไปส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีมาก่อน

              

“เบบี้กิ๊ฟ แฟล็กชิพสโตร์ฯ แห่งนี้ มีสินค้าที่บริษัทเป็นผู้นำเข้าเอง 60% และพันธมิตรอีก 40% อย่างไรก็ดีหลังเปิดให้บริการพบว่า มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 2-4 หมื่นบาทต่อบิล จากเดิมที่มียอดขายเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อบิล ทำให้บริษัทมีแผนที่จะขยายสาขาในโมเดลนี้เพิ่มขึ้น 4 มุมเมืองภายใน 5 ปี โดยสาขา 2 จะเปิดให้บริการในย่านรามอินทรา ในไตรมาส 3 ปี 2566 นอกจากนี้ยังมีแผนขยายไลน์สินค้าในกลุ่มบ้าน สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ เป็นต้น”

              

ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก อาทิ อะพริก้า (APRICA), อาเลเบเบ (AILEBEBE) จากญี่ปุ่น, คินเดอร์คราฟ (KINDERKRAFT) จากเยอรมัน, เลโนลักซ์ (RENOLUX) จากฝรั่งเศส, เฮนิม (HAENIM) จากเกาหลี ฯลฯ และยังเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์ “ปรินซ์ แอนด์ ปรินซ์เซส” (PRINCE & PRINCESS) โดยในปี 2565 มียอดขายรวม 140 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านบาท ในปี 2566 และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2570

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,843 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565