ผ่าเกม “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” รอด"โควิด"เพราะขาย “ป๊อปคอร์น”

09 ธ.ค. 2565 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2565 | 22:58 น.

โควิด2ปี โรงหนังทรุดรายได้หด “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ดิ้นขาย “ป๊อปคอร์น” นอกโรงหนังถมรายได้ตั๋วหนังหด ปีหน้าเตรียมปั้น Popcorn Business ปักธงแหล่งรายได้ใหม่ จับมือเถ้าแก่ดรอปราคา ส่งบุกตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ

ในช่วงการระบาดของโควิด  ธุรกิจโรงภาพยนต์กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวรวมทั้ง“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” หนึ่งในบิ๊กเพลย์เยอร์ตกที่นั่งลำบากจากรายได้ที่หดหายไปอย่างไม่ทันตั้งตัว หนึ่งในกลยุทธิ์ที่ผู้บริหาร นำมาใช้ในการกอบกู้สถานการณ์ของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ให้อยู่รอดได้คือ “ป๊อปคอร์น” จากเดิมสร้างสัดส่วนรายได้เพียง40% ขยับขึ้นมาเป็น70% กลายหมากนอกสายตากู้วิกฤต “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ได้ในที่สุด

ผ่าเกม “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” รอด"โควิด"เพราะขาย “ป๊อปคอร์น”

แน่นอนว่าแม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น กิจการโรงภาพยนต์กลับมาเปิดบริการได้ตามปกติมาได้สักพักใหญ่ แต่ บิ๊กบอส “วิชา พูลวรลักษณ์” ยังคงอนุมัติให้ “ป๊อปคอร์น” ได้ไปต่อและเตรียมชูขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่ที่คาดหวังให้เป็นรายได้หลักขาหนึ่งของกรุ้ป

 

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ดีมานด์การดูหนังของคนยังคงมีอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าหนังเรื่องนั้นตรงกับความสนใจของผู้บริโภคหรือไม่ แต่ จากประสบการณ์ที่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าพึงพอใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าแพลตฟอร์มของโรงภาพยนต์ยังอยู่ในใจของผู้บริโภค 

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ ในช่วงโควิดบริษัทได้ปรับตัวโดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัยมาให้บริการลูกค้าได้สัมผัสความบันเทิงที่แตกต่างระหว่างการดูหนังในโรงหนัง หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ รวมถึงการมองหา รายได้จากช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้จากการขาย “ป๊อปคอร์น”

 

“ก่อนหน้านี้เราขาย“ ป๊อปคอร์น” ในโรงหนังเป็นหลักพอเจอโควิดโรงหนังปิดบริการ เราจึงเริ่มตั้งขาย“ป๊อปคอร์น” นอกโรงหนังและทำเดลิเวอรี่ควบคู่กันไป ในช่วงเริ่มต้นทำรายได้ไม่กี่ล้านบาทจนปัจจุบันสามารถทำรายได้เดือนละ 20 ล้านบาท ดังนั้นเราเชื่อว่า “Popcorn Business” มี potential สูงมากและเดือนนี้น่าจะแตะ 30 ล้านบาท จากสิ่งที่เราไม่เคยทำ จากสิ่งที่เราไม่เคยมองวันนี้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา  ก่อนโควิดเรามีรายได้ป๊อปคอร์นประมาณ 40 % ของรายได้จากโรงภาพยนต์ แต่ตอนนี้สัดส่วนรายได้จากป๊อปคอร์นอยู่ที่ 70%”

ผ่าเกม “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” รอด"โควิด"เพราะขาย “ป๊อปคอร์น”

ในปี2566 บริษัทมีแผนวางจำหน่าย ป๊อปคอร์น ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ “เถ้าแก่น้อย” เพื่อทำให้ราคาถูกลงและมีรสชาติใหม่มากขึ้น รวมทั้งขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปยังช่องทางใหม่ๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดันส่วนรายได้จาก  “Popcorn Business” ให้มากขึ้นกว่าเดิม 

 

“ต่อไปคงไม่ใช่แค่ขาย ป๊อปคอร์น ใน7-eleven เพราะเถ้าแก่น้อยมีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย ดังนั้นในการร่วมครั้งนี้เถ้าแก่น้อยจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการผลิตและการขาย ตอนนี้เราขาย ป๊อปคอร์น ในราคา 35-40 บาท ซึ่งไม่เวิร์คใน 7-eleven ราคาควรอยู่ประมาณ 20-25 บาท เพราะฉะนั้นเถ้าแก่น้อยจะช่วยเราในเรื่องของช่องทางการจำหน่าย วางยุทธศาสตร์การตลาด การโฆษณาให้คนเห็น รวมไปถึงพยายามลดต้นทุนเพราะมีโรงงานมี ทุนสามารถนำเข้าอินกรีเดี้ยนใหม่ๆเข้ามาและผลิตในไลน์การผลิตใหม่ให้เรา”

ผ่าเกม “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” รอด"โควิด"เพราะขาย “ป๊อปคอร์น”

ทั้งนี้ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า “ในอดีตเราไม่เคยคิดว่าแบรนด์ของเราจะสามารถทำรายได้จาก ป๊อปคอร์น ในช่วงแรก Popcorn Business จะโฟกัสขายใน 7-eleven ซึ่งเท่ากับรายได้ตั๋วหนัง และยังสามารถทำรายได้จากการขายนอกโรงภาพยนต์ประมาณ 60-80% ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อน  เพราะฉะนั้นจุดนี้คือสิ่งที่เราโฟกัสคือ New Business หรือ New s-curve จากรายได้ Popcorn Business ในช่องทางต่างๆทั้งออนไลน์ Lotus, Big C ,tops และในอนาคตจะโฟกัสไปที่คอนวีเนียนสโตร์และถ้าสามารถทำราคาให้ถูกลง คนทานแล้วอร่อยและแบรนด์ติดตลาดก็สามารถลงไปถึงโชว์ห่วย รวมทั้งการบุกตลาดต่างประเทศ ถือว่าโควิดช่วยให้เราทำอะไรใหม่ๆและมองในสิ่งที่เราไม่เคยมอง ปีนี้รายได้ Popcorn Business น่าจะแตะ 2.5 พันกว่าล้านบาท”