เปิดเกมรุก "เมเจอร์ " ปี2566 ขยายโรงหนัง-ปั้นบิสิเนสใหม่ถมรายได้ตั๋วหนังหด

08 ธ.ค. 2565 | 21:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2565 | 16:42 น.

"เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" แก้เกมโรงหนังซึม หันทุ่มปั้นรายได้จากป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง พร้อมทุ่มทุนสร้างภาพยนต์ไทยหวังดันมาร์เก็ตแชร์ให้ถึง 50%

เปิดเกมรุก "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป" ปี 2566  เตรียมทุ่มทุนขยายสาขาโรงภาพยนตร์ 13 สาขา 49 โรง โบว์ลิ่ง 3 สาขา 40 เลน และคาราโอเกะ 30 ห้อง พร้อมปั้นรายได้จากธุรกิจ ป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง (Out Cinema)เพิ่มควบคู่ไปกับการผลิตภาพยนตร์ไทยหวังดันมาร์เก็ตแชร์ให้ถึง 50%

 

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19เมเจอร์ ไม่หยุดคิดที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัยมาให้บริการลูกค้าได้สัมผัสความบันเทิงที่แตกต่างระหว่างการดูหนังในโรงหนัง หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ รวมทั้งการหาแหล่งรายได้จากช่องทางอื่นนอกเหนือจากโรงภาพยนต์

 

สำหรับในปี 2566 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์มากที่สุดถึง 13 สาขา 49 โรง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท เปิดที่ One Bangkok จับมือกับเซ็นทรัล เปิดที่  เซ็นทรัล เวสต์ วิลล์ ราชพฤกษ์จับมือกับโรบินสัน เปิดที่ โรบินสัน ฉลอง จับมือกับโลตัส เปิดที่ นครนายก, สระแก้ว, นราธิวาส, ปัตตานี จับมือกับบิ๊กซี เปิดที่ บางบอน, สระบุรี, ยะลา เปิดกับไฮเปอร์ มาร์เก็ต 2 สาขา และ เปิดสาขาสแตนด์อโลนที่ภูเก็ต ตลอดจน ขยายสาขาโบว์ลิ่ง เพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และ คาราโอเกะ 30 ห้อง

 

ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง 188,973 ที่นั่ง แยกเป็น ในประเทศ 172 สาขา 800 โรง 180,081 ที่นั่ง  สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง 77,605 ที่นั่งและสาขาในต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 102,919 ที่นั่งส่วนในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง  สาขาในประเทศลาว 3 สาขา 13 โรง 3,235 ที่นั่ง และสาขาในประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 5,368 ที่นั่ง ขณะเดียวกันมีสาขาโบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดให้บริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง

 

ทั้งนี้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยังมองภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ด้วยการเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทย หวังผลักดันให้มีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศให้ได้ 50% ตั้งเป้าหมายให้ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายให้ได้ปีละ 20 เรื่อง เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 เรื่อง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น King of Content Hub หวังสร้างภาพยนตร์ไทยป้อนสู่ตลาดโลกพร้อมผลักวัฒนธรรมบันเทิงผ่านภาพยนตร์ให้เกิด Soft Power นำรายได้เข้าสู่ประเทศผ่านเนื้อหาในภาพยนตร์ อาทิ ตัวละคร เครื่องแต่งกาย สถานที่ และอาหารในเมืองไทย เพื่อเทียบชั้นกับประเทศเกาหลีใต้ที่ขึ้นเป็น Role Model ของอุตสาหกรรมบันเทิงโลก ซึ่งในที่สุดจะนำรายได้กลับสู่ประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ยังนำเข้าสุดยอดเทคโนโลยีล่าสุดของโลกภาพยนตร์มาเติมเต็มบริการให้ลูกค้าคนไทยได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษก่อนใคร เพื่อให้ลูกค้าได้รับอรรถรสการชมภาพยนตร์ในโรงแตกต่างจากการดูที่บ้านหรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ดังนี้

• ระบบการฉายภาพยนตร์ IMAX ใหม่ล่าสุด กับ IMAX with LASER" ในโรงภาพยนตร์ 3 สาขา คือ พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ไอคอน ซีเนคอนิค และจะขยายสาขาไอแมกซ์แห่งใหม่อีก 1 แห่ง พร้อมระบบการฉาย IMAX with LASERที่ เมกา ซีนีเพล็กซ์

 

• เปิด “โรงภาพยนตร์ ScreenX PLF” ในรูปแบบ Premium Large Format แห่งใหม่ ที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ แห่งที่ 2 หลังจากได้เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ ScreenX สาขาแรกที่ โรงภาพยนตร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เมื่อปี 2558

• ลงทุนในเทคโนโลยี CAPSULE HOLOGRAM เป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ซื้อ CAPSULE HOLOGRAM ของ ARHT Media Inc. มาไว้ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์

 

สำหรับ New Business ในส่วนของ ธุรกิจ Concession เห็นโอกาสการเติบโตอย่างชัดเจน จากตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกธุรกิจเกิดการชะงัก แต่ในส่วนของการจำหน่ายป๊อปคอร์นกลับมีตัวเลขการเติบโตของรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายป๊อปคอร์น นอกโรงหนัง (Out Cinema) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้ง Delivery : ผ่าน Grab, Food Panda, Line Man, Shopee Food, Robinhood, Air Aisa Food Kiosks & Event : ณ สิ้นปี 2565 มี Kiosks สาขานอกโรงภาพยนตร์บริการรวม 19 สาขา และในปี 2566 จะมี Kiosks บริการเพิ่มอีก 20 สาขา Modern Trade : ผ่าน Convenience Store เซเว่น อีเลฟเวน, Discounted Store โลตัส บิ๊กซี และ Supermarket ได้แก่ วิลล่า มาร์เก็ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และโฮม เฟรช มาร์ท, ท็อปส์ มาร์เก็ต และ ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ Major Mall

 

"ป๊อปคอร์นถือเป็นซิกเนเจอร์ของโรงหนัง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้า แต่ยังคงเอกลักษณ์ความอร่อยของป๊อปคอร์นโรงหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่มีความหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกบริโภคมากขึ้น ทั้ง ป๊อปคอร์น ทูโก ในถุงซิปล็อค ที่อยู่ในถุงเก็บความกรอบอร่อย ลูกค้าสามารถซื้อไปแจก จัดเลี้ยงรับรองในงานต่าง ๆ ส่วน ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ ป๊อปคอร์นที่ลูกค้าสามารถนำไปเข้าตู้อบไมโครเวฟทำเองได้ที่บ้านแต่ยังคงรสชาติความอร่อย และ ป๊อปสตาร์ ป๊อปคอร์น ที่ลูกค้าสามารถหาซื้อได้ที่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น"