บุกร้องนายกฯ สั่งก.ล.ต.-ปปง. สอบบริษัทอสังหาฯ ดังทำเสียหาย

08 ธ.ค. 2565 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 22:13 น.
870

ตัวแทนครอบครัว "รัตนพันธ์" บุกร้องนายกฯ ขอให้ช่วยสั่ง ก.ล.ต.-ปปง. สอบบริษัทอสังหาฯ ชื่อดัง ชดใช้ค่าเสียหายหลายล้านบาท พร้อมขอ กกต. ช่วยสอมปมอาจเอี่ยวการเมือง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า วันนี้ นายศราวุธ รัตนพันธ์ ในฐานะตัวแทนครอบครัว รัตนพันธ์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ จุดบริการประชาชน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบความสุจริตโปร่งใสในพฤติการณ์การดำเนินธุรกิจ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

 

โดยนายศราวุธ ในฐานะตัวแทนครอบครัว รัตนพันธ์ ได้ยื่นหนังสือผ่านนายนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ นายศราวุธ อ้างว่า ได้ถูกบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งนี้ บริหารและดำเนินกิจการจนทำให้ครอบครัวของได้รับความเสียหายมายาวนานกว่า 6 ปี สูญเสียบ้าน และที่ดินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทเศษ จึงต้องติดตามให้บริษัทรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมกล่าวหาผู้บริหารของบริษัทว่า ร่วมกันปกปิด ซ่อนเร้น อำพรางความจริงที่เกิดขึ้นต่อประชาชนผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

 

โดยซุกซ่อนการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200 ล้านบาทเศษ โดยอำพรางเป็นบันทึกข้อตกลงการให้ประโยชน์จากส่วนต่าง 200 ล้านบาทเศษ และสัญญากู้ยืมเงิน 20 ล้านบาท 
ที่ผ่านมา บริษัทได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว 20 ล้านบาท โดยอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน 20 ล้านบาท ให้เด็กอายุ 23 ปี ในขณะนั้นลงนามเป็นผู้กู้

 

เพราะอ้างว่าตนเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถจ่ายเงินค่าเสียหายออกมาได้ และในส่วนที่เหลือให้ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างตามบันทึกข้อตกลงจำนวนรวม 200 ล้านบาทเศษ 

 

แต่เมื่อเด็กได้ลงนามในสัญญา ผู้บริหารกลับไม่สุจริต ไม่ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้ โดยไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เหลือ อีกทั้งยังนำสัญญากู้ยืมเงินอำพรางการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ มย.66/2563 การกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างไม่มีธรรมาภิบาล ไม่สุจริตและไม่มีความรับผิดชอบ

 

ทำให้ครอบครัวรัตนพันธ์ ต้องต่อสู้คดีกับบริษัทดังกล่าวโดยลำพังไม่มีทนายความ ซึ่งในการไต่สวนความจริงนั้น ศาลมีคำสั่งให้ฟ้องแย้งหรือฟ้องกลับบริษัทเป็นเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทเศษแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าตรวจสอบการกระทำของบริษัทดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง

 

พร้อมทั้งขอให้กำชับไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยตรวจสอบ เนื่องจากพฤติกรรมการที่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีมาตรฐานข้อบังคับในการนำเงินออกจากบริษัทอย่างชัดเจน และเคร่งครัด 

 

อาจจะนำไปสู่การเป็นเส้นทางการหลบเลี่ยงเส้นทางการเงิน หรือการนำเงินเข้าหรือออกนอกระบบได้อย่างง่ายดาย อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่สุจริตทั้งในการประกอบธุรกิจและการ ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 

 

อีกทั้งขอให้นายกฯ กำชับไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากบริษัทนี้มีความเกี่ยวข้องและมีสายสัมพันธ์พิเศษกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งอดีตและปัจจุบันมาโดยตลอด รวมถึงท่าทีที่แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงผู้บริหารปัจจุบัน อาจมีการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส และอาจเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริตการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ จนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ

 

นอกจากนี้ยังขอให้นายกฯ มีคำสั่งเร่งด่วนถึงกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือเรื่องเงินค่าธรรมเนียมศาล จำนวน 1.4 ล้านบาทเศษ และขอรับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากหน่วยงานภาครัฐจากการเปิดเผยความจริงดังกล่าวด้วย