‘มิราเคิล กรุ๊ป’ ฟื้นธุรกิจในสนามบิน ขยายลงทุนรับการท่องเที่ยวขยับ

01 ธ.ค. 2565 | 07:30 น.
1.0 k

“มิราเคิล กรุ๊ป” ทยอยกลับมาเปิดธุรกิจในสนามบินต่อเนื่อง รุกเปิดเลานจ์ สนามบินสุวรรณภูมิ แล้ว 8 แห่ง จากเดิม 11 แห่ง ลงทุนทรานซิส โฮเทลเพิ่ม สร้างเลานจ์-เดย์รูมแห่งใหม่ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รับท่องเที่ยวฟื้นตัว ชูธงโรงแรมใหม่ อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น บุก 5 ดาว

ล่าสุดไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้วรวมกว่า 8.2 ล้านคน (1 ม.ค.-19 พ.ย.65) สร้างรายได้กว่า 2.81 แสนล้านบาท ขณะที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน 6 แห่งของทอท.ในช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้ อยู่ที่ 2.3-2.4 แสนคนต่อวัน การฟื้นตัวดังกล่าว ทำให้ “มิราเคิล กรุ๊ป” ซึ่งดำเนินธุรกิจในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ทยอยกลับมาเปิดธุรกิจและขยายการลงทุนในสนามบิน และธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น

นายอัศวิน อิงคะกุล ประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นทำให้ในขณะนี้ทางกลุ่มมิราเคิล ได้ทยอยกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับสัมปทาน ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองอีกครั้ง

 

ไม่ว่าจะเป็น มิราเคิล เลานจ์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งหมด 11 แห่ง กลับมาเปิดให้บริการแล้ว 8 แห่ง เหลืออีก 3 แห่งที่ยังปิดให้บริการอยู่ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างทยอยลงทุน ทรานซิส โฮเทล เพิ่มอีก 20 ห้อง ลงทุนราว 30 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 50 ห้อง

 

อัศวิน อิงคะกุล  มิราเคิล กรุ๊ป

ขณะเดียวกันยังเตรียมแผนในการเข้าลงทุนใหม่ ในพื้นที่บริเวณอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ อาคาร SAT 1 ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เตรียมแผนจะเปิดให้บริการผู้โดยสาร โดยตามสัญญาเราจะต้องเข้าไปลงทุนในพื้นที่ราว 5,000-6,000 ตารางเมตร ซึ่งจะสร้างห้องพักแบบเดย์ รูม จำนวน 50-60 ห้อง และมิราเคิล เลานจ์ บนพื้นที่ประมาณ 3,000 กว่าตารางเมตร รวมมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท

สำหรับการให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ก็กลับมาเปิดให้บริการร้านอาหารแมจิก และเลานจ์ ที่เคยเปิดให้บริการอยู่แล้วบางส่วน เนื่องจากเนื่องจากมีแนวโน้มว่าสายการบินต่างๆที่เคยเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศที่สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันเปลี่ยนเส้นทางไปให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฟื้นตัวประมาณ 70% ทำให้เรากลับมาเปิดบริการมิราเคิล เลาจน์ ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงลงทุนที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น ขณะที่สนามบินดอนเมือง ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ก็ทำให้เรากลับมาเปิดบริการต่างๆในสนามบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

อาทิ มิราเคิล เลานจ์ ทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ศูนย์อาหารเมจิก ฟู้ดพอยท์ ศูนย์อาหารเมจิก การ์เด้น ร้านอาหารเมจิกอร่อย สลิพ บ็อกซ์ ในสนามบินดอนเมือง โรงแรมทรานซิท เดย์รูม ในสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งยังขยายการลงทุนที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

 

นายอัศวิน กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่ธุรกิจในสนามบินเท่านั้น ในส่วนของธุรกิจโรงแรม ในปีนี้เพิ่งจะเปิด โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น บนพื้นที่ 9 ไร่ ติดกับโรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลังจากใช้งบลงทุนไปกว่า 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเราทยอยลงทุนมาก่อนเกิดโควิด-19 โดยตอนแรกสร้างอาคาร B ที่เป็นส่วนของห้องพักขนาด 150 ห้อง และอาคาร C ที่เป็นอาคารจอดรถ แล้วเสร็จ แต่พอจะเริ่มสร้างอาคาร A ซึ่งเป็นอาคารหลัก และเป็นห้องพักแบบสวีท พอจะเริ่มสร้างโควิด-19 ก็เข้ามา

 

โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น

 

การก่อสร้างโรงแรมนี้ผมสร้างปวดหัวมาก โควิดมา ผู้รับเหมาก็เข้าพื้นที่ได้บ้าง บางเดือนรัฐก็ให้ปิดงานก่อสร้างเพิ่งมาแล้วเสร็จ และเปิดซอฟต์โอเพนนิ่ง มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 อัตราการจองพื้นที่จัดงานราว 40-50% โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนา และงานแต่งงาน เนื่องจากคนอั้นไม่ได้จัดงานมาหลายปี ประกอบกับโรงแรมใหม่ มีพื้นที่มากถึง 20,000 ตารางเมตร ห้องใหญ่รองรับได้ 2,000 คน รวมห้องประชุมทั้งหมด 32 ห้อง

 

ประกอบกับที่ผ่านมาเรามีตลาดลูกค้าคนไทยอยู่แล้ว โดยงานประชุมสัมมนา 50-60%เป็นงานจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 20-30% เป็นบริษัทเอกชน ที่เหลือเป็นลูกค้าทั่วไป เมื่อเราเปิดให้บริการ ก็ได้รับการตอบรับที่ดี

 

การเปิดโรงแรมใหม่นี้ จะไม่กระทบกับโรงแรมมิราเคิล เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างกัน ซึ่งโรงแรมอัศวิน เป็นระดับ 5 ดาว ค่าใช้จ่ายในการจัดงานก็จะสูงกว่า มิราเคิล การที่เราสร้างโปรดักซ์ใหม่ ก็จะทำให้เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่มีรายได้สูง และหลังจากนี้สักพักก็มีแผนจะทยอยปรับปรุงโรงแรมมิราเคิล ด้วยเช่นกัน

 

นายอัศวิน ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาแม้จะเกิดโควิด-19 ในส่วนของธุรกิจโรงแรม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ปิดโรงแรมแต่อย่างใด พนักงานจำนวน 1,000 กว่าคนใน 3 โรงแรม เราก็ไม่ได้เลย์ออฟใคร และยังจ่ายเงินเดือนพนักงานอยู่ แม้ไม่มีรายได้ก็ต้องหามาจ่าย ซึ่งเราก็พอมีทุนอยู่บ้าง แต่ยอมรับว่าหนักหนาสาหัสมาก จากวันหนึ่งขายได้วันละ 100 ห้อง เหลือไม่ถึง 10 ห้อง เพราะเดี๋ยวเคอร์ฟิว เดี๋ยวล็อกดาวน์ แต่ก็ผ่านมาได้เพราะเราทำด้วยใจ และผมทำอะไรจะไม่อยู่ในความประมาท ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

 

ที่ผ่านมาผมวางแผนวันต่อวันว่าจะทำอย่างไรให้มีลูกค้า ซึ่งด้วยความที่เราเป็นโรงแรมที่รองรับลูกค้าคนไทย ก็พอมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ้าง เช่น กระตุ้นการขายอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ใครวางแผนอนาคตก็จบ เพราะโควิดไม่มีระยะเวลาว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทุกคนมีโอกาสติดโควิด แต่ตอนนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมก็ดีขึ้นมาราว 50-60% และถ้าไม่มีโรคมาแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ผมก็มองว่าในปี67 ธุรกิจก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ