วัดขุมกำลัง "กัญชงไทย" พร้อมสู้ “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” แค่ไหน

24 พ.ย. 2565 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 23:46 น.

“ไทยลีฟ” เปิดกรณีศึกษาเทียบฟอร์ม “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” แต่ละประเทศเดินหน้าไปถึงไหน และ "กัญชงไทย" พร้อมแค่ไหนในการปักธงชาติแรกในภูมิภาคกับการตีตลาด CBD

‘กัญชง’ อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หากใครได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนทางฝั่งอเมริกา หรือฝั่งยุโรปจะเห็นว่า ตลาดกัญชงในแถบดังกล่าวเดินหน้าไปหลายก้าวแล้ว ยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าสู่ตลาดกัญชงเป็นรายแรกๆของไทยฉายภาพความสำเร็จของ "ตลาดกัญชงในต่างประเทศ" ว่า สหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายพื้นที่ในอเมริกาใต้ เป็นพื้นที่ที่มีการทำผลิตภัณฑ์กัญชงหลายรูปแบบ อาทิเช่น ยา อาหารเสริม เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ หรือโครงรถยนต์ก็มีการใช้เส้นใยจากกัญชงมาเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต

วัดขุมกำลัง "กัญชงไทย" พร้อมสู้ “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” แค่ไหน

ขณะเดียวกันถ้าขยับไปดูหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย พบว่า มีการนำกัญชงมาทำผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์อาหาร รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาและเวชภัณฑ์

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ยังเปิดเผยอีกว่า เกษตรกรชาวอิตาลีมีการจำหน่ายส่วนประกอบต่างๆ ของกัญชง โดยช่อดอก ที่นำมาสกัดสาร CBD จะได้รับความนิยมมากที่สุด รองมาคือ ลำต้น และเมล็ด


หากสำรวจข้อมูลการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในต่างประเทศให้ลึกขึ้น จะพบว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์นานาชนิดอย่างแพร่หลาย ประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่ก้าวทันต่อกระแสเทรนด์กัญชง และมีองค์กรด้านการศึกษาที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกัญชงมานานกว่า 30 ปี เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่เป็นพันธมิตรกับไทยลีฟ

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเปิดเสรีตลาดกัญชงมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชง ซึ่งเน้นเรื่องการนอนหลับเป็นหลัก รองมาคือ กลุ่มอาหาร เช่น อาหารที่ใช้โปรตีนของกัญชง อาหารทานเล่น และกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ เครื่องดื่มผสมวิตามิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีบางรัฐที่ยังไม่ได้ลบกัญชงออกจากบัญชีสารผิดกฏหมาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายในแต่ละรัฐอย่างละเอียด

นายยิ่งยศ ผู้บริหารไทยลีฟ

ส่วนในประเทศ แคนาดา มีการนำสารสกัด CBD มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องสำอาง สำหรับดูแลเรื่อง Anti-Aging ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพตามวัย เช่น คลีนเซอร์ โทนเนอร์ เซรั่ม โลชั่น ครีมกันแดด เป็นต้น

 

ขณะที่ประเทศในโซนยุโรปอย่าง อิตาลี ก็เป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องกัญชงทั้งการผลิต และการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชง หลังจากประกาศกฏหมายการเพาะปลูกและจำหน่ายกัญชงเสรีเมื่อปี พ.ศ.2559 ในปัจจุบันมีทั้งร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชง ธุรกิจด้านการเกษตรกัญชง ธุรกิจแปรรูป และกระจายผลิตภัณฑ์กัญชง ทำให้เกิดห่วงโซ่การสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าหมื่นราย ขณะที่ เนเธอร์แลนด์ จะทำการปลูกกัญชงเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

 

โดยมีตลาดส่งออกสำคัญอย่าง เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แต่ก็มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงในประเทศด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริม และเนเธอร์แลนด์ยังมีข้อกำหนดกฏหมายชัดเจนว่า ผู้ผลิตจะต้องส่งกัญชงที่ปลูกในเนเธอร์แลนด์ไปสกัดสาร CBD ในต่างประเทศ แล้วจึงสามารถนำกลับมาจำหน่ายในประเทศได้ เพื่อป้องกันการผลิตยาเสพติดที่ร้ายแรง นอกจากนี้ เยอรมนี มีแผนจะเปิดเสรีตลาดกัญชง และนำสารสกัด CBD เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ในปี 2566

วัดขุมกำลัง "กัญชงไทย" พร้อมสู้ “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” แค่ไหน

ย้อนมาที่แถบเอเชีย ปัจจุบันมี ประเทศไทย เป็นประเทศแรกที่มีการเปิดเสรีตลาดกัญชง และมีการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ หนึ่งในผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสุขภาพ คือ ไทยลีฟ 

 

ภาครัฐ “ตัวแปรใหญ่” หนุนกัญชง 

นายยิ่งยศ ผู้บริหารไทยลีฟ เล่าว่า จากตัวอย่างที่หลายๆ ประเทศ มีการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชง ภาครัฐของแต่ละประเทศถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนและควบคุมดูแลการใช้กัญชงเพื่อเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ โดยหลักการการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสารสกัด CBD เหมือนกันทั่วโลกคือต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุมดูแลในการออกผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพในการยื่นขอจดทะเบียนก่อนวางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ต่างประเทศจะมี Food and Drug Administration (FDA)

 

ในประเทศไทย หน่วยงานที่ควบคุมกฎระเบียบในส่วนนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบ และออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร ยา และเครื่องสำอางสำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้ ภาครัฐพึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนควบคู่ด้วยว่า สารสกัด CBD จากกัญชงมีประโยชน์อย่างไร ปริมาณสารที่ใช้ได้ควรอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ และกำหนดสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อย่างชัดเจน  

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ อิตาลี ที่มีการกำหนดกฏหมายด้านการเพาะปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายข้อ  เช่น ผู้เพาะปลูกต้องเก็บแถบป้ายบอกข้อมูลของเมล็ดที่ซื้ออย่างน้อย 1 ปี และต้องเก็บใบเสร็จตามระยะที่กฏหมายกำหนด กรณีมีการตรวจพบปริมาณส่วนผสมของสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารเสพติดออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเกินที่กฎหมายกำหนด ศาลสามารถสั่งยึดหรือทำลายพื้นที่เพาะปลูกได้

 

นอกจากนี้แต่ละพื้นที่สามารถจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชง และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกัญชงได้ ตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งคือ ออสเตรีย ซึ่งเปิดให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีสาร CBD จากกัญชงแล้ว เช่น น้ำมันนวด ชา แต่ต้องผลิตมาจากพันธุ์กัญชงที่อยู่ในรายชื่อที่ผ่านการรับรองจากสหภาพยุโรปเท่านั้น และมีปริมาณของสาร THC ไม่เกิน 0.3% และหากเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มยา ต้องมีฉลากระบุชัดเจนว่า เป็นยารักษาโรคใช้เพื่อการแพทย์โดยเฉพาะ

 

ทั้งนี้พบว่าในออสเตรีย ยังมีการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชง เพื่อตอบโจทย์สายคนรักสมุนไพร รวมถึงทำเป็นร้านกาแฟและของหวานที่ใช้สาร CBD เป็นส่วนผสม จึงกลายเป็นสถานที่โปรดของกลุ่มนักศึกษา และผู้สูงวัยสำหรับนัดพบปะแก๊งเพื่อนเพื่อพักผ่อนอีกด้วย 

 

“หากถามถึงข้อคิดเห็นของประชาชนในประเทศที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัด CBD จากกัญชงแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา พบว่ามีการตอบรับที่ดีมาก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีคุณภาพ มีการควบคุมอย่างชัดเจนจากหน่วยงานโดยตรง พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลวิจัยเกี่ยวกับสารสกัด CBD ให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน เช่น CBD มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ ช่วยเกี่ยวกับพาร์กินสัน หรือสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดของผู้ที่ทำเคมีบำบัด หรือคีโม หลังจากฉายรังสี เป็นต้น ทำให้คนเกิดความเชื่อมั่น มั่นใจในการใช้อย่างความปลอดภัย”

วัดขุมกำลัง "กัญชงไทย" พร้อมสู้ “ตลาดกัญชงกลุ่มประเทศชั้นนำ” แค่ไหน

ถอดกรณีศึกษาโลก แจ้งเกิดตลาดกัญชงไทย

นายยิ่งยศ กล่าวว่า ไทยลีฟ มีการศึกษาการทำธุรกิจกัญชงจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งในต่างประเทศ และแผนธุรกิจยังคงย้ำความตั้งใจแรกคือ ไทยลีฟต้องทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฏหมาย และราคาจับต้องได้ เพื่อมอบให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การคืนประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน


หลังจากไทยลีฟได้เข้าไปดำเนินการปลูกกัญชงและสร้างโรงงานกัญชงที่ จ.นครนายก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ไทยลีฟมีการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์การทำธุรกิจกัญชงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อวงการเฮลท์แคร์ มิใช่เพื่อสันทนาการผิดกฎหมาย หลังจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครนายก ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ปลัดจังหวัด รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับทราบข้อมูลก็ตื่นตัวกันอย่างมาก ทุกภาคส่วนเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ เพราะการเข้าไปทำโรงงานกัญชงของไทยลีฟ จ.นครนายก จะเป็นการช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เจริญขึ้น และยังเปิดช่องทางสร้างโอกาสพัฒนาคนในชุมชนให้มาทำงานกับไทยลีฟ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างได้รายได้จากการปลูกกัญชง  

 

เมื่อประเทศไทยมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชงไทยออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง เราจำเป็นต้องตระหนักถึงข้อควรระวังหลายข้อ ไทยลีฟเห็นว่าสิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชง คือ

1. ผลิตภัณฑ์กัญชงต้องได้มาตรฐานระดับสูง ผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายสู่ตลาดมีหลายมาตรฐาน ดังนั้นภาครัฐควรควบคุมมาตรฐานให้ได้และเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และหากผลิตภัณฑ์ใดไม่ได้คุณภาพต้องมีการจัดการอย่างเคร่งครัด

2. การวางระบบเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร เป็นสิ่งสำคัญที่สัมพันธ์ต่อการสร้างระบบโรงงาน และมีระบบเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หากเกษตรกรไม่มีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องพืชสายพันธุ์กัญชง จะทำให้การเพาะปลูกไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์คือ พืชกัญชงจะดูดสารพิษเข้าไปที่ต้น และการใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นจำนวนมาก จะทำให้สารเคมีเข้าไปอยู่ในน้ำมัน CBD ที่สกัดออกมา

 

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางระบบเกษตรกรรมในรูปแบบออร์แกนิก 100% 3. การสร้างแพลตฟอร์มให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อผลิตภัณฑ์กัญชง ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชงบนโลกออนไลน์มีจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอาจมีการคัดกรองที่ไม่ถูกต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ดังนั้น หากมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ และมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชงที่ถูกต้อง ชัดเจนและเข้าถึงง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค