22 พ.ย. ระทึก "คณะกรรมการ ป.ป.ส. " พลิกมติ “กัญชา” เป็นยาเสพติด

17 พ.ย. 2565 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 01:03 น.
515

“ปานเทพ” เตือน "คณะกรรมการ ป.ป.ส. " ก่อนพัง ถ้า พลิกมติ “กัญชา” เป็นยาเสพติด วันที่ 22 พ.ย. ขณะที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ระวังเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ชี้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้ผ่านรัฐสภา เป็นการละเมิดอำนาจประชาชนหรือไม่

สืบเนื่องจากกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ในวันที่ 21 กันยายน 2565 จะมีวาระในการพิจารณาแนวทางการดำเนินการกรณีฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 นั้น

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ค ก่อนพังถ้า “กัญชา” จะเป็นยาเสพติดอีกในสัปดาห์หน้า พร้อมกับตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็นดังนี้  ประเด็นที่หนึ่ง ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามออก “ประกาศเท่าที่อำนาจมี” เพื่อมาควบคุมกัญชาให้ดีขึ้นกว่าเดิม “ในช่วงเวลาระหว่าง”ที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเตะถ่วงยังไม่พิจารณาหรือจะคว่ำกฎหมายใน วาระที่ ๒ ของ ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

 

 

22 พ.ย. ระทึก \"คณะกรรมการ ป.ป.ส. \" พลิกมติ “กัญชา” เป็นยาเสพติด

แต่แทนที่รัฐบาลจะเร่งให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับล่าสุด เพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ “การควบคุมกัญชาดีขึ้นกว่าเดิม” และเร่งให้แก้ไขและผ่านความเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อใหสมบูรณ์กว่าเดิม แต่นายกรัฐมนตรีและคณะกลับขวางและให้ชะลอการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวนใหม่

 

 

ประเด็นที่สอง ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า “ควรจะแก้ให้รวมในประกาศฉบับเดียว” นั้น ในความจริงแล้วการควบคุมกัญชาจะอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวได้เตรียมไว้อยู่แล้วคือ ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระที2  ของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

 

ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา จึงย่อมกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ หากรัฐบาลเห็นว่าการประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับไม่เหมาะสม ก็ควรจะเร่งให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขและให้ความเห็นชอบผ่าน ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญให้เร็วที่สุด

 

ยกเว้นเสียแต่ว่าการพูดเช่นนี้มีความหมายว่า รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมีความคิดจะให้กัญชาอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันคือ “กลับไปเป็นยาเสพติด” ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกครั้งเท่านั้น

 

 

ประเด็นที่สาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เป็นการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็น “อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนี้ ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรี

 

 

ดังนั้นกองประกาศิต สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้มีอำนาจในการมีคำสั่งให้เพิกถอน ยกเลิก หรือห้ามไม่ให้ลงในประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ การขัดขวางไม่ให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จึงเข้าข่ายการการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 

 

 

ประเด็นที่สี่ มีข่าวว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้ง 4/2565  ในวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พบว่ามีระเบียบวาระที่ 4 เรื่องพิจารณา 2 เรื่อง คือ

 

1. แนวทางการดำเนินการกรณีฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา (กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ป.ป.ส.) และ2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. 2565 (สำนักงาน ป.ป.ส.)

 

สำหรับประเด็นนี้แสดงให้เห็นการ “จัดลำดับ”วาระ 4.1 เรื่องการฟ้องศาลปกครองก่อน แล้วจึงพิจารณาวาระ ๔.๒ เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา)ตามหลัง จึงมีความเสี่ยงที่ว่าเมื่อพิจารณข้อต่อสู้และความเสี่ยงทั้งหลาย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) อาจยกแม่น้ำทั้งห้าอ้างเหตุลผลต่างๆ เพื่อพิจารณาลงมติให้ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก” เสียก่อนแล้วจึงค่อยไปพิจารณาวาระที่ 2 เพราะเมื่อกัญชาได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ลงมติให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้ต้นกัญชาทุกส่วนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ​ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565  นั้น

 

 

ขอเตือนด้วยความปรารถนาดีเอาไว้ตรงนี้ว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ส. คิดและเชื่อว่ามติปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมาเป็นการกระทำความผิด การลงมติย้อนกลับก็ไม่ได้ทำให้ “ความผิดสำเร็จ” ลบหายไปได้ และจะต้องเตรียมรับความผิดทางแพ่งและอาญาระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2565  จนถึงวันที่กลับมติตามมาหลังจากนั้นอย่างแน่นอน

 

 

ในทางตรงกันข้ามประชาชน “จำนวนมาก” ผู้ที่ปลูกกัญชาเพื่อรักษาตัวเอง หรือลงทุนเพื่อประกอบการค้าอย่างสุจริต ในฐานะสมุนไพรควบคุม จะกลายเป็นผู้เดือดร้อน เป็นผู้กระทำความผิดฐานผลิต ครอบครอง หรือจำหน่ายยาเสพติดทันที เชื่อได้ว่าหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) กลับมติยกเลิกการปลดล็อกกัญชา จะต้องถูกฟ้องทางแพ่งและอาญาตามมาจากประชาชนกลุ่มเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

 

 

 

ในทางตรงกันข้ามหากคณะรรมการป.ป.ส. คิดและเชื่อว่ามติที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการกระทำความผิดและเตรียมยืนหยัดข้อต่อสู้ให้ดีก็เท่ากับไม่เคยมีการกระทำความผิดใดๆเคยเกิดขึ้นทั้งสิ้น แล้วรีบลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ฉบับล่าสุดที่ลงโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565  เพื่อทำให้การควบคุมดีขึ้น และจะทำให้ข้อต่อสู้แข็งแรงขึ้นในศาลปกครองดีขึ้นเช่นกัน

 

 

 

โดยในความเป็นจริงแล้วประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับที่ผ่านมา ​ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกัญชา ในสถานการณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ปลดล็อกกัญชาไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ และในสถานการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากพยายามรุมกินโต๊ะพรรคภูมิใจไทยโดยการเตะถ่วงและเตรียมคว่ำ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แทนการ “แก้ไข”รายมาตรานั้น สะท้อนให้เห็นว่าแทบทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องการให้กัญชาไม่มีกฎหมายที่ดีกว่ามาควบคุม

 

 

เพื่อที่คาดหวังจะทำให้กัญชาอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เพื่อเป็นเหตุอ้างในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก โดยยอมกลืนน้ำลายตัวเองกลับลำในมติต่างๆที่ผ่านมาทั้งหมดของทั้งรัฐบาลและรัฐสภา เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการเมืองเหนือกว่าผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่?

 

 

 

 

 

เช่นเดียวกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ กรรมาธิการพิจารณา พรบ กัญชา กัญชง พ.ศ…….. กล่าวว่า ระวังเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวประเทศไทย เป็นนิติรัฐ คือการปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจ หรือบารมี ของใคร ซึ่ง ประชาชน คนไทยทุกคน (รวมถึง #นักการเมือง และ #ข้าราชการ) ต้องเคารพกฎหมาย ไม่อย่างนั้นจะบอก ชาวบ้าน ทุกคนให้เคารพ กฎหมาย ได้อย่างไร

 

กรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะเอาเรื่องพืชกัญชา ที่หลุดออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติด เข้าไปพิจารณาใหม่ ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจประชาชน เพราะ ประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้ผ่าน รัฐสภา โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชน ผ่านการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง