“กนก”ต้านร่างก.ม.กัญชา-กัญชง เหตุไร้มาตรการดูแลเด็ก-เยาวชน

22 พ.ย. 2565 | 19:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 02:46 น.

“กนก”ย้ำไม่เห็นชอบร่างก.ม.กัญชา-กัญชง เหตุยังไม่รอบคอบ ไร้มาตรการดูแลเด็ก-เยาวชน ยังกังขาการแพทย์เพื่อทุนใหญ่ เกษตรกรรายย่อย เข้าไม่ถึง  ลั่นระหว่างประโยชน์ทางการแพทย์-ทุนใหญ่ ขอเลือกอนาคตของชาติ


ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.กัญชา กัญชง กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาลเปิดฟรีโหวต ร่าง พรบ.กัญชา กัญชง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระสองและสาม ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.นี้ ว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดที่ไม่สมบูรณ์ แต่มีกมธ.หลายคนต้องการเร่งรัด เพราะเป็นเป้าหมายทางการเมือง

 
โดยยังไม่มีความรอบคอบในส่วนการดูแลเยาวชนที่สังคมยังมีความกังวล ซึ่งตนยืนยันมาโดยตลอดว่า ร่างกฎหมายต้องมีความสมดุลใน 3 ส่วนคือ การแพทย์และอุตสาหกรรม การได้ประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อย และความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน 


 

3 เรื่องนี้ต้องหาจุดสมดุลให้ได้ แต่เนื้อหาในร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าสภายังไม่ครอบคลุมอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะมาตรการที่จะควบคุมดูแลความปลอดภัยเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่สมดุลมาตั้งแต่ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด อีกทั้งข้ออ้างเรื่องการแพทย์ ก็ยังมีข้อกังขาด้วยว่าใครได้ประโยชน์ ระหว่างทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อย

“การเพิ่มเนื้อหาให้มีจำนวนมาตรามากขึ้นถึง 40 กว่ามาตรา ไม่ใช่เหตุผลที่จะอ้างได้ว่ากฎหมายมีความรอบคอบแล้ว  เนื่องจากเนื้อหาที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ อุตสาหกรรม และเชิงเศรษฐกิจ แต่การป้องกันเด็กและเยาวชนน้อยมาก 


ผมยืนยันจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมือง ผมไม่เคยคิดทะเลาะกับใคร สิ่งที่ต้องการคือ ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ พิจารณาบนความเป็นจริง ไม่เอาเรื่องความได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบทางการเมืองเป็นตัวตั้ง จนทำให้กลายเป็นร่างกฎหมายทางการเมืองไป หรือคิดแต่ชิงไหว ชิงพริบเท่านั้น” ศ.ดร.กนก กล่าว


ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุด้วยว่า จะไม่ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนี้อย่างแน่นอน แต่อยู่ระหว่างตัดสินใจ ว่าจะโหวตคว่ำ หรือว่างดออกเสียง ซึ่งในส่วนของส.ส.ประชาธิปัตย์ เชื่อว่าจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ 

 

“ขอย้ำว่า ประชาธิปัตย์ ไม่ได้เล่นการเมือง แต่เรายึดหลักเหตุผล ไม่ต้องการทำคลอดกฎหมายที่จะกลายเป็นพิษภัยต่อสังคมและลูกหลานในภายหลัง ทางออกจึงควรใช้วิธีการประกาศกระทรวงมาดูแล แต่ถ้ายังครอบคลุมการปฏิบัติไม่ได้ สุดท้ายการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งก็จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเราไม่ควรเอาอนาคตของเด็กและเยาวชนไปเสี่ยงกับผลประโยชน์ทางการแพทย์ ผู้ลงทุน ซึ่งถ้าบีบให้ต้องเลือก ผมก็ขอเลือกรักษาอนาคตของชาติ”