กรมการข้าว พร้อมโอน 1.5 หมื่นล้าน ให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยชาวนา

23 พ.ย. 2565 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 00:43 น.
17.9 k

อธิบดีกรมการข้าว เปิดเงื่อนไข โอนเงิน 1.5 หมื่นล้าน “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท ก่อนเที่ยงวันพรุ่งนี้ ส่วนโครงการฯ เล็งของบกลางผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เป้า 3,000 ศูนย์ งบ 6,000 ล้าน เผยสาเหตุ “ข้าวหอมมะลิ” แพ้ข้าวกัมพูชา จากใช้สารเคมีทำให้ความหอมข้าวหายไป

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

 

สืบเนื่องจาก นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ถึง อธิบดีกรมการข้าว ตามที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565  เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66  ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

 

ทั้งนี้ กรอบวงเงินดำเนินโครงการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ ไม่เกิน  20,000 บาท กรอบวงเงินจำนวนรวม  55,083.086 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือแนวทางการดำเนินโครงการและวิธีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวร่วมกัน โดยเป็นการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง มีผลสรุปดังนี้

 

1. เห็นควรให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คจาก งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส.ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15  พฤศจิกายน 2565

 

2. รับทราบแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินตามโครงการฯ 5 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 - 28 พฤศจิกายน 2565 โตยกำหนดจัดกิจกรรม Kick off  การจ่ายเงินในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส. และมติคณะรัฐมนตรี จึงขอให้กรมการข้าวสั่งจ่ายเช็คให้ ธ.ก.ส. ภายในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 

 

 

กรมการข้าว พร้อมโอน 1.5 หมื่นล้าน ให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยชาวนา

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมการข้าวกำลังรอบัญชีรายชื่อจากกรมส่งเสริมการเกษตร รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนส่งมาให้ กรมการข้าวก็จะส่งรายชื่อทั้งหมด พร้อมกับเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทให้ ธ.ก.ส. ก่อนเที่ยงของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เมื่อคืนงบประมาณไปแล้ว ทางกรมการข้าวจะของบส่วนอื่นให้มาดูแลพี่น้องเกษตรกร คือ งบกลางที่จะมาลงให้กับศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อปฎิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งกำลังหารือกับทางผู้ใหญ่อยู่ ประเมินจะใช้งบกว่า 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 3,000 ศูนย์ข้าวชุมชน
 

"ทุกอย่างคงเดิม แต่บางศูนย์ข้าวชุมชนก็มีเครื่องจักรกลการเกษตรอยู่แล้ว หรือถ้าบางศูนย์ไม่มีอะไรเลย ก็ต้องนำงบไปสนับสนุน ถ้าเราต้องการทำข้าวให้มีคุณภาพสู้กับประเทศอื่นได้ ต้องใช้เครื่องทุ่นแรง เพราะแรงงานในประเทศไม่มี และการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็นทำให้ต้นทุนสูง ต้องหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ สารจุลินทรีย์ เข้ามาช่วยเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรลด และเห็นถึงความอันตรายของสารเคมี"

 

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ทำไมข้าวหอมมะลิไทย แพ้ข้าวหอมกัมพูชา หรือ สู้ข้าวหอมต่างประเทศไม่ได้ในเวลานี้ สาเหตุเพราะมีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีมากเกินไป ซึ่งจะไปทำลายความหอมของข้าวที่อยู่ในตัว ในอนาคตหากเกษตรกรลดการใช้สารเคมีมากเท่าไร จะทำให้ความหอมของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้ รวมทั้งผลผลิตไม่เสียหายด้วย

 

 

 

“ผมขอเรียนชี้แจงว่า ตั้งแต่ผมได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้ทราบถึงปัญหานี้เช่นกัน จึงได้เร่งรัดกองวิจัยและพัฒนาข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่วมกันแก้ไขปัญหา และหาสาเหตุข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นถึง คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในปัจจุบัน ซึ่งกรมการข้าวมีงานวิจัยเรื่องความหอมข้าวขาวดอกมะลิ 105 ยืนยันแล้วว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ไม่พบว่ามีความแปรปรวนของลักษณะสรีระและทางพันธุกรรม รวมทั้งลักษณะทางการเกษตรแต่อย่างใด และได้พิสูจน์ความหอมแล้วยังมีความหอมเหมือนเดิมไม่น้อยลง"

 

นอกจากนี้ ปัญหาความหอมของข้าวที่ลดลง จากงานวิจัยที่ทำการศึกษา พบว่าคุณภาพเมล็ดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และความหอมของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีความแปรปรวน โดยเฉพาะความหอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการในแปลงนาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว นั่นเป็นเพราะพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกจากพันธุ์พื้นเมืองที่ปรับตัวได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ต้นสูง ฟางข้าวอ่อนล้มได้ง่าย

 

 

ดังนั้น จึงเหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ในช่วงข้าวออกดอกซึ่งเป็นระยะที่ข้าวสะสมแป้งน้ำในนาจะซึมลงใต้ดิน ทำให้น้ำไม่ขังแปลง เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการสร้างสารหอมระเหย 2 AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) จึงทำให้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีความหอมมาก อีกทั้งในช่วงข้าวสะสมแป้งเป็นช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หากปีใดมีอากาศเย็น (อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส) ในช่วงระยะเวลายาวนานจะทำให้สารหอมระเหยในข้าวจะคงอยู่ในเมล็ดข้าวได้มาก ผลผลิตข้าวปีนั้นจะหอมมากกว่าปีที่มีอากาศร้อน”

 

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการปลูกข้าวหอมให้มีคุณภาพและความหอมที่ดีจะต้องมีการปฏิบัติดังนี้

 

1. การจัดการน้ำ การระบายน้ำออกจากแปลงนาหลังระยะออกดอก 7 วัน จะทำให้การสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น คุณภาพการสี และคุณภาพหุงต้มรับประทานดีขึ้น

 

2. การจัดการธาตุอาหารในดิน ธาตุหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม และธาตุรอง ได้แก่ แคลเซียม ซัลเฟอร์ แมงกานีส และแมกนีสเซียม ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุดดิน จะทำให้ข้าวสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น

 

3. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยรักษาความหอมสูง ต้องเก็บเกี่ยวข้าวคือระยะพลับพลึง ในระยะ 25-30 วันหลังออกดอก

 

4. การจัดการเก็บรักษาข้าวสารเพื่อช่วยรักษาความหอมข้าวให้นานขึ้น โดยสภาพปกติเก็บควรเก็บข้าวสารไม่เกิน 5 เดือน หากเป็นไปได้เก็บในที่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ยาวนานกว่าสภาพปกติและคงคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากในอดีตหลายด้าน

 

โดยเฉพาะการนำเครื่องเกี่ยวนวดมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เกี่ยวได้มีความชื้นสูงกว่าการเกี่ยวด้วยมือและตากให้แห้งก่อนนำเข้าโรงสี ในขณะที่ข้าวที่ได้จากเครื่องเกี่ยวนวดจะต้องนำไปลดความชื้นอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงจะทำให้คุณภาพที่ดีได้มาตรฐานจะส่งผลให้ ความหอมของข้าวหอมมะลิในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการอบลดความชื้น ทำให้มีโอกาสที่จะมีแนวโน้มทำให้ความหอมน้อยลงไปจากกระบวนการผลิตข้าวแบบดั้งเดิม

 

 

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวอีกว่าในปี 2566 กรมการข้าว ได้มอบหมายให้กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ผลผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เฉลี่ยเพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่ง มาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เองหลายรอบ มีคุณภาพต่ำลง การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดี มีปัจจัยหลายอย่างทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี

 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ปัญหาสำคัญที่พบและเป็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบันเพราะมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพข้าวไทย ก็คือ ชาวนาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีชาวนามักจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ใชเองต่อเนื่องกันหลายปีส่งผลให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพต่ำ

 

 

จากสาเหตุมีข้าวแดงและพันธุ์อื่นปนทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ กรมการข้าว จึงเห็นสมควรส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตและจำหน่ายโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้