"วราวุธ"  แนะภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

22 พ.ย. 2565 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2565 | 21:28 น.

"วราวุธ"  แนะภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สู่เป้าหมาย Net Zero GHG พร้อมเดินหน้าตีกรอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยภายในปี 2025

 

 

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ “16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production : Bridging Net Zero Transition by SCP and Circular Economy”

 

จัดโดย สมาคมส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ SCP Association (Thailand) ร่วมกับ Asia Pacific Roundtable for Sustainable Consumption and Production (APRSCP) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้  การศึกษาวิจัย และการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานด้านการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน

 

เพื่อยกระดับความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส  เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565ที่ผ่านมา

วราวุธ  ศิลปอาชา

 

นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพราะภาคอุตสาหกรรม และการผลิต จะปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เป็นการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน (Consumption and Production)

 

สิ่งนี้จะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต และกรอบความคิดของประชาชนในประเทศ และผู้คนบนโลก การผลิตหลังจากนี้ไม่ว่าอุตสาหกรรมใด เช่น เสื้อผ้า ยานพาหนะ จะต้องคำนึงถึงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้หลายประเทศเริ่มมีกำแพงภาษี ถ้าผู้ผลิตไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ก็จะพบกับปัญหา

 

ดังนั้นหากประเทศไทยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจะทำให้สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีดังกล่าว โดยหวังว่าสังคมไทย และสังคมโลกจะเปลี่ยนไป ไม่ฟุ่มเฟือยในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

\"วราวุธ\"  แนะภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ภาครัฐได้ออกมาตรการเข้มงวด ในการจำกัดกรอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2025 ประเทศไทยจะหยุดการนำเข้าเศษพลาสติก ยกเว้นเศษพลาสติกที่ต้องนำมาใช้ และไม่สามารถหาได้ในประเทศไทย โดยการที่ต้องกำหนดเช่นนี้เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายแอบนำขยะพลาสติกสอดแทรกเข้ามากับเศษพลาสติกด้วย