เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะทำงานไทยเดินทางถึง เมืองชาร์ม เอล ชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สถานที่จัดงานประชุม The 27th Conference of the Parties หรือ COP 27 โดยหลังจากเดินทางถึงได้มีการประชุมหารือกับทีมงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวแทนของประเทศไทยปฏิบัติภารกิจในวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2565 นี้
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเด็นหลัก ๆ สำคัญที่ประชุมให้ความสนใจ สำหรับปีนี้ มีทั้งหมด 5 ประเด็นสำคัญ คือ
1. การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050
2. Loss and Damage จะเป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ของการประชุมครั้งนี้ ในการหาข้อสรุปว่า ประเทศที่พัฒนาควรต้องจ่ายเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3. Climate Finance เกี่ยวกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถือเป็นกลไกการจัดงานแหล่งเงินทุน เพื่อมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. ความโปร่งใสในการรายงานข้อมูล ที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6 (Article 6) ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
สำหรับประเทศไทยจะนำเสนอแผนระยะยาว จากวันนี้ ถึงปี 2065 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 โดยระหว่างนี้เราจะทำอย่างไรให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ปริมาณ 388 ล้านตัน ให้ลดลงไปเหลือ 120 ล้านตัน เราจะมีวิธีการลดอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีแผนระยะสั้น Nationally Determined Contributions หรือ NDC ที่ประเทศไทยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 % ว่าจะมีการลดอย่างไร รวมถึงที่ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต กับสมาพันธรัฐสวิส คู่แรกของโลก ภายใต้ข้อ 6.2 ใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่งผลให้มีการผลักดันการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือรถเมล์ EV เพื่อลดการใช้น้ำมัน ตลอดจนเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก และลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับภารกิจของคณะทำงานไทย ในวันนี้ (วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565) จะไปยังสถานที่จัดงานเพื่อดูสถานที่การจัดแสดงข้อมูลรายละเอียด นำเสนอโดย SCG ในหัวข้อเรื่อง "Thailand Chapter - Net zero cement and concrete roadmap 2050" ที่ Thai Pavilion นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น จะมีประชุมกลุ่มย่อย กับผู้นำประเทศอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนภารกิจวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้ ไทยจะเข้าร่วมประชุมฯ เวลา 10.00 -13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง