วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ Sharm El-Sheikh International Convention Center สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในการประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27)โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นคณะทำงานของประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยวางแผนในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวเข้าสู่สถานะ Net zero หรือ Net zero greenhouse gas emissions ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2065 และ Carbon natural หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ.2050 โดยตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum ของเรา 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี ส่วนแผนระยะสั้น ประเทศไทยมีแผนที่ Nationally Determined Contributions หรือที่เรียกว่า NDC ซึ่งจากนี้ไปจนถึง ปี ค.ศ.2030 เราตั้งใจว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 40% ประเทศไทยของเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีดีแต่พูด ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำตามสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลักดันแผนงานต่าง ๆ เริ่มจาก ที่ประเทศไทยได้ลงนามสัญญา กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศคู่แรกในโลกที่ได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้เงื่อนไข ข้อ 6.2 ความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ Biocircular Green Economy (BCG) ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาแผนการปรับตัวระดับชาติ และส่งเสริมให้ชุมชนมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลด และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิต และพฤติกรรมการบริโภค ประเทศไทยของเรา
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า 1 ปี หลังจากนี้ ประเทศไทยจะนำไปเสนอต่อเวที COP 28 ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า ประเทศไทยจะมีการดำเนินการอย่างไร และจะมีสิ่งที่เป็นรูปธรรมอะไรออกมาบ้าง ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านไป สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้ง เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปีหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาอะไรบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญ คือเราต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้
"ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ในการที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนหนึ่งคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทั้งประเทศ ซึ่งเรามีประชากร 67 ล้านคน มีเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา นักธุรกิจ การประกอบอาชีพ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นจากนี้อีก 1 ปี จะเป็นความท้าทายในการทำงานให้ชาวโลกได้ประจักษ์"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง