“ชัชชาติ” เปิดแนวคิด ดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ

15 พ.ย. 2565 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2565 | 19:19 น.

“ชัชชาติ” ผ่านแนวคิด แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ดึงเทคโนโลยีช่วยบริหาร ยึดต้นแบบเมืองไทเป ตั้งเป้ากรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะภายใน 4-5 ปีข้างหน้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในงานสัมมนา ThailandSmart City: Bangkok Model ช่วง กรุงเทพเป็นเมืองอัจฉริยะจริงไหม เราอยู่ตรงไหนในนิยามที่ถูกกำหนด? ว่า หากพูดถึงกรุงเทพฯที่เหมาะสมกับการเป็นที่ประชุมเอเปค2022 นั้น ถือเป็นงานที่สำคัญ หลังจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทราบว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ย.มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสดงศักยภาพของไทยให้โลกเห็น

 

“หากถามว่าเมืองคืออะไร เมืองคือตลาดแรงงาน (Labor market) การอยู่ในเมืองได้ เพราะหัวใจหลักสำคัญคือการมีงานและเศรษฐกิจ ส่วนหน้าที่ของกทม.หรือหน้าที่ของเมือง ประกอบด้วย 1.เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น 2.พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ 3.สร้างโอกาสสำหรับทุกคน 4.สร้างความไว้วางใจ (Trust) หากเมืองไหนไม่มีเรื่องนี้คงอยู่ได้ยาก ส่วนสมาร์ทซิตี้ คือ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำหน้าที่ของเมือง”
 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ตามทฤษฎีของสมาร์ทซิตี้ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินทาง  2.ระบบเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต 3.โครงสร้างพื้นฐานของสังคม หากมีแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่ ต่อให้เทคโนโลยีล้ำแค่ไหน แต่ผู้คนไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม สุดท้ายเมืองก็ไม่ฉลาด 

 

“เทคโนโลยีไม่สามารถตอบคำถามได้ หากจะตั้งคำถามของเมืองต้องมาจากคนที่เข้าใจปัญหาและมีคำตอบ โดยมีเทคโนโลยีมาช่วย ผมไม่ได้เชื่อเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ผมเชื่อในเรื่องเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด Intelligent Assistant (IA) เมื่อคนมีปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบคำถามเพื่อแก้ปัญหา หากจะแก้ปัญหาอาชญากรรมต้องมองปัญหาหลายส่วน เช่น การศึกษา,การหางาน,ระบบความปลอดภัย ฯลฯ”
 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากรับตำแหน่งผู้ว่ากทม.ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าปัญหาที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือ ความไว้วางใจระหว่างกทม.และประชาชน เมืองนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกฎหมาย แต่อยู่ด้วยพันธสัญญาซึ่งกันและกัน  หากเมืองไหนที่มีความไว้ใจและมี Social Contact สามารถใช้ Soft Power ทำให้เมืองนั้นมีความฉลาดได้ ส่วนการนำเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริม Social Contact เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะต้องยึดประชาชนเป็นหลัก มีความเป็นผู้นำ,การมีส่วนร่วม,มีความคิดสร้างสรรค์,การสร้างโอกาส,ความโปร่งใส,ความเท่าเทียม ฯลฯ 

 

ขณะที่ปัญหาของกรุงเทพฯอีกเรื่องคือ ปัญหาเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมามีการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานบริเวณส่วนกลางหรือเส้นเลือดใหญ่เป็นหลัก ส่วนปัญหาในชุมชนหรือเส้นเลือดฝอยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ เมื่อเส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ทำให้เมืองไปไม่รอด เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะทาง 400 กิโลเมตร (กม.) ที่มีการเดินทางที่เข้มแข็ง แต่การเดินทางระดับเส้นเลือดฝอยกลับไปไม่ถึง ฯลฯ 

 

“นักการเมืองส่วนใหญ่ชอบมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับเมกะโปรเจ็กต์ เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ หากพูดถึงผมคงนึกถึงรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่มีใครนึกถึงในช่วงที่มีการลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งปัญหาเส้นเลือดฝอยเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม หากต้องการให้เมืองอัจฉริยะได้จะต้องดำเนินการทั้งระบบ” 

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความโปร่งใส พบว่าไทยมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันและการทุจริต หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็ไม่สามารถไปต่อได้ ไทยควรนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา

 

“การตั้งเป้าหมายให้กรุงเทพฯเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ คือ ความน่าอยู่ เพราะเราต้องการทำให้เมืองมีความสมาร์ทและน่าอยู่ หากมีแต่ความสมาร์ท แต่เมืองไม่น่าอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งไทยจะต้องทำให้ตัวชี้วัดการจัดอันดับที่ 98 ของกรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งนี้ในอนาคตกทม.มีแผนที่จะทำให้กรุงเทพฯขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1-50 ในการเป็นเมืองน่าอยู่ให้ได้ หากทำได้ เชื่อว่าคือ สมาร์ทซิตี้”

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้รับตำแหน่งผู้ว่ากทม.คือ การแจ้งปัญหาผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการนำเทคโนโลยีเพื่อแจ้งปัญหาและส่งข้อมูลให้กทม.ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่นั้นๆ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่มีการใช้ระบบร้องเรียนทำหนังสือถึงผู้ว่ากทม.ทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯแจ้งปัญหาร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue จำนวน 179,241 เรื่อง แบ่งเป็น รอรับเรื่อง 1,146 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 8,752 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 46,430 เรื่อง และดำเนินการเสร็จสิ้น 117,286 เรื่อง 

 

“ต้นแบบเมืองน่าอยู่ของกรุงเทพฯ คือ ไทเป ประเทศไต้หวัน เพราะได้มีโอกาสหารือร่วมกันรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อีกทั้งกรุงเทพฯและไทเปมีลักษณะเมืองที่คล้ายกัน เช่น SME ,เกษตรกรรม ฯลฯ คาดว่ากรุงเทพฯจะสามารถเป็นเมืองน่าอยู่เหมือนกับไทเปได้ โดยใช้ระยะเวลาราว 4-5 ปี”