กางแผนปรับขบวนรถไฟเข้า "สถานีกลางฯอภิวัฒน์" ม.ค. 66

09 พ.ย. 2565 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 23:11 น.

“คมนาคม” เปิดแผนปรับขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางกรุงเทพฯ นำร่องสายเหนือ-อีสาน 32 ขบวน เล็งเปิดให้บริการเดือนม.ค. 66 ฟากสายใต้ ติดปัญหาระบบอาณัติสัญญาณ ขณะที่สายตะวันออก ติดหล่มยังไม่ได้เริ่มสร้างต่อขยายสายสีแดง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อมปรับแผน ย้ายการเดินขบวนรถไฟ บางส่วนมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ปี 2566 หลังประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าแผนการย้ายขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเสร็จแล้ว ซึ่งพบว่าประชาชนไม่ได้ขัดข้องในการย้ายขบวนรถไฟในครั้งนี้ เบื้องต้นได้หารือร่วมกับรฟท.โดยจะดำเนินประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันการสับสนในการใช้บริการรถไฟ จากการนำขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางฯ ภายในระยะเวลา 60 วัน หลังจากจำหน่ายตั๋วรถไฟล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่าจะนำขบวนรถไฟมาให้บริการที่สถานีกลางฯ จำนวน 48 ขบวน ในช่วงหลังเดือนมกราคม 2566 หรือช่วงหลังเทศกาลปีใหม่
 

สำหรับแผนการปรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ที่ให้บริการในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 32 ขบวน ประกอบด้วย 1. ขบวนรถไฟสายเหนือ จำนวน 14 ขบวน 2. ขบวนรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน ส่วนขบวนรถไฟเชิงสังคมยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพง เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เส้นทางเข้ากรุงเทพฯชั้นในเป็นผู้ใช้บริการที่เดินทางประจำ โดยจะปรับขบวนรถตามความต้องการของผู้โดยสารจนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจะดำเนินการแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะนำมาให้บริการในสถานีกลางกรุงเทพฯ


ทั้งนี้การให้บริการขบวนรถไฟทางไกลสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 32 ขบวนนั้น จะใช้ทางวิ่งยกระดับของรถไฟสายสีแดงฝั่งเหนือ โดยหยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสาร จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย 1. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริเวณชานชาลาที่ 1, 2, 5 และ 6 2. สถานีรังสิต และ 3. สถานีดอนเมือง โดยรถไฟทางไกลทั้ง 2 สาย จะวิ่งเข้าสถานีกลางกรุงเทพฯ ไม่ลงสะพานข้ามทางรถไฟ (Ramp)


 

ส่วนรถไฟเชิงสังคมสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ จะออกจากสถานีหัวลำโพง ผ่านชุมทางบางซื่อเดิม และจะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางยกระดับของรถไฟสายสีแดง ก่อนถึงสถานีวัดเสมียนนารี-สถานีรังสิต โดยจะงดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1. ที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 2. สถานีบางเขน 3. ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง 4. สถานีหลักสี่ และ 5. ที่หยุดรถการเคหะ กม.19

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการนำขบวนรถไฟสายใต้ จำนวน 16 ขบวน มาให้บริการภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ยังติดปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ เนื่องจากรางรถไฟภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นทางวิ่งยกระดับที่ใช้ระบบ Automatic Train Protection ซึ่งปัจจุบันขบวนรถไฟสายใต้ไม่ได้มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ โดยไม่สามารถให้บริการได้ คาดว่าจะดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติ สัญญาณของขบวนรถไฟสายใต้ ได้ภายในปี 2566 ก่อนที่จะนำมาให้บริการในสถานีกลางฯ ต่อไป


ทั้งนี้เมื่อขบวนรถไฟทางไกลสายใต้เปิดให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะใช้ทางวิ่งยกระดับดินของรถไฟสายสีแดงฝั่งตะวันตก โดยจะรับ-ส่งผู้โดยสาร จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริเวณชานชาลาที่ 7, 8, 11 และ 12, สถานีตลิ่งชัน และสถานีบางบำหรุ หลังจากนั้นจะใช้ทางวิ่งระดับดิน โดยขึ้นทางลาดก่อนถึงสถานีบางซ่อน ขณะที่รถไฟเชิงสังคมสายใต้จะยังคงให้บริการสถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม โดยจะใช้ทางวิ่งระดับดินเข้าสถานีชุมทางบางซื่อ

กางแผนปรับขบวนรถไฟเข้า \"สถานีกลางฯอภิวัฒน์\" ม.ค. 66

 “รถไฟสายตะวันออก เป็นอีก 1 สายที่ไม่สามารถให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้ เนื่องจากแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ
รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missink Link) ส่งผลให้ในปัจจุบันประชาชนจะสามารถใช้บริการรถไฟเส้นทางดังกล่าวได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ทั้งนี้โครงการรถไฟสายสีแดงและสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้ถูกสร้างมาเพื่อลดปัญหาจุดตัดรถไฟในกรุงเทพฯ ทั้งหมด อีกทั้งสถานีหัวลำโพง ค่อนข้างเก่า โดยภายในพื้นที่ไม่สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ได้”


สำหรับแนวทางการเยียวยาผู้ใช้บริการรถไฟทางไกลในช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีระยะเวลาการเยียวยา 1 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการ ดังนี้ 1. ผู้โดยสารรถเชิงพาณิชย์ (ขาเข้ากรุงเทพ) ที่ถือตั๋วโดยสารและระบุปลายทาง ในตั๋ว คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, สถานีดอนเมือง ยกเว้นสถานีรังสิต หากต้องการจะลงสถานีหลักสี่, สถานีบางเขน สามารถนำตั๋วโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าทั้งสถานีรถไฟสายสีแดง เพื่อเข้าใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

2. ผู้โดยสารรถเชิงพาณิชย์ (ขาออกกรุงเทพ) ที่ถือตั๋วโดยสารและระบุต้นทางในตั๋ว คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, สถานีดอนเมือง ยกเว้นสถานีรังสิต หากต้องการจะขึ้นสถานีกลางกรุงเทพฯ สามารถนำตั๋วโดยสารแสดงต่อเจ้าหน้าทั้งสถานีรถไฟสายสีแดง บริเวณสถานีบางเขนและสถานีหลักสี่ เพื่อขึ้นรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพฯหรือสถานีดอนเมือง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

3. ผู้ใช้บริการรถเชิงสังคม สามารถใช้ตั๋วโดยสารกับรถไฟสายสีแดงได้พาะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทรายเดือนในสถานีที่รฟท.กำหนด เท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรายวันไม่สามารถใช้บริการในกรณีนี้ได้