หากพูดถึงการเดินทางในกรุงเทพและปริมณฑลคงหนีไม่พ้นการเดินทางโดยระบบขนส่งทางรางอย่างรถไฟและรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาพื้นที่รองรับการให้บริการประชาชนหลายแห่ง 1 ในนั้นคือ "สถานีกลางบางซื่อ" หรือมีชื่อที่ได้รับพระราชทานว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”
สำหรับชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” นั้น มาจากภายหลังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลว. 2 ก.ย. 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ
- "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์หรือ สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีรถไฟหลักตั้งอยู่ใจกลางศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยถูกตั้งเป้าให้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เดิมที่จะยกเลิก เหลือเพียงสถานีของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม หากเปิดบริการครบทุกเส้นทางสถานีแห่งนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้วจะรองรับรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ทุกเส้นทาง เช่น รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน
นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง - สิงคโปร์ สาย Central Route ที่เป็นเส้นทางรถไฟจากสถานีรถไฟคุนหมิง ประเทศจีน ไปยังสถานีรถไฟจูล่งตะวันออก ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถานีชุมทางในการเปลี่ยนสายระหว่างช่วง กรุงเทพฯ - ลาว - จีน (สายอีสาน) และกรุงเทพฯ - มาเลเซีย - สิงคโปร์ (สายใต้)
การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- เริ่มต้นในปี 2556- 2562
- งบประมาณรวม 34,142 ล้านบาท
- ออกแบบภูมิ สถาปัตย์ โดย บริษัท ดีไซน์ คอนเซปท์ จำกัด
- สามารถรองรับผู้โดยสารมากถึง 624,000 คนต่อวัน เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำระดับสากล
- เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564
- หลังจากเปิดให้บริการไม่นานได้กลายเป็น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ชั่วคราว เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยอาคารสถานีมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 298,200 ตารางเมตร
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะแตกต่างจากสถานีกรุงเทพเดิมเนื่องจากถูกออกแบบให้เป็นสถานีระบบปิด มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเทียบเท่ากับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้โดยสารที่ไม่มีตั๋วโดยสารรถไฟจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนชั้นชานชาลาของสถานีได้ดังเช่นสถานีกรุงเทพเดิม เนื่องจากชั้นชานชาลาถือเป็นพื้นที่เขตหวงห้ามเด็ดขาด
พื้นที่ภายในตัวอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน พื้นที่จอดรถยนต์ สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน และพื้นที่จอดรถยนต์ผู้พิการ 19 คัน
- ชั้นลอย พื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร ใช้เป็นพื้นที่ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้า OTOP และสินค้าที่น่าสนใจหลายรายการ รวมทั้งเป็นพื้นที่ของห้องควบคุมของสถานีกลางบางซื่อ
- ชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร พื้นที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT
- ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับชานชาลารองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา
- ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ชานชาลา
จุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
- เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และเป็นแกนกลางการเดินทางสู่มหานคร
- เป็นสถานี “อารยสถาปัตย์” ตามหลัก Universal Design โครงสร้างนาฬิกาแบบหน้าปัดมีเข็มนาฬิกา ซึ่งหน้าปัดมีเพียงตัวเลขบอกเวลาหมายเลข ๙ เท่านั้น ได้ถูกยกเพื่อติดตั้งที่หน้าโดมของสถานีกลางบางซื่อแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้จัดการวางระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ใช้งานได้เป็นปกติ นาฬิกานี้ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งอยู่บนผนังกระจกสถานีกลางบางซื่อ มีความสูงจากระดับพื้นดินถึงจุดศูนย์กลางนาฬิกา 21 เมตร สำหรับหน้าปัดนาฬิกาที่มีเพียงหมายเลข ๙ เกิดจากความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๙ และตั้งใจที่จะให้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของสถานี
- เข้าใจถึงรูปแบบขบวนรถไฟสายสีแดง(The S.R.T. Red Line Mass Transit System Project) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอันได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีสถานีหลักคือสถานีกลางบางซื่อ
- เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามหลัก TOD คือ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีหรือระบบขนส่งมวลชน ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมในรูปแบบผสมผสาน ทั้งตั้งอยู่ในระยะเดินเท้าจากสถานีขนส่งมวลชนและศูนย์กลางพาณิชยกรรม โดยจัดสรรการใช้พื้นที่ให้มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน พื้นที่โล่งว่าง และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งบริการพื้นฐานต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดินทางด้วยยานพาหนะหลากหลายประเภท ทั้งระบบขนส่งมวลชน จักรยาน และการเดินเท้า ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
ล่าสุดรฟท.ได้จับมือกับ TRUE พัฒนาภายในสถานีกลางบางซื่อ โดยนําร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้จากที่นี่ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง เชื่อมโยงไปถึงทางน้ำและทางอากาศด้วย
เทคโนโลยี 5G ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่จะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 นี้
- หุ่นยนต์ต้อนรับ SRT Bot นวัตกรรมหุ่นยนต์บริการ สามารถโต้ตอบได้ทั้งภาษาไทย & อังกฤษ ได้ ให้บริการข้อมูล Smart Information โดยเฉพาะข้อมูลการเดินทาง การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว,ให้บริการช่วยเหลือผู้เดินทาง,สำรวจ รักษาความปลอดภัยพื้นที่ และตรวจวัดอุณหภูมิด้วยระบบภาพ รวมทั้งบริการแจ้งเตือนและช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่โดยตรงแบบ Real-Time
- Smart Wheelchair มีระบบเซ็นเซอร์วัดระยะเพื่อแจ้งเตือนการเข้าใกล้สิ่งของต่างๆ รวมถึงหยุดเมื่อเข้าถึงระยะที่ใกล้ โดยผู้ใช้ระบุจุดหมาย wheelchair เคลื่อนที่อัตโนมัติไปยังพื้นที่เป้าหมาย และสามารถกลับมาพื้นที่จุดรับบริการได้ ซึ่งผู้ใช้ระบุจุดหมาย wheelchair แนะนำเส้นทางผู้ใช้งานควบคุมการเดินทางเอง เกินกำหนด
- AI Security สามารถเชื่อมต่อกับระบบโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ของอาคารสถานีกลางบางซื่อได้ไม่น้อยกว่า 121 ตัว พร้อมทั้งเรียกดูภาพจากเครื่องบันทึกหลายเครื่อง โดยแสดงบนจอภาพเดียวกัน ทั้งในรูปแบบภาพปัจจุบันและภาพย้อนหลังได้ ตรวจจับคนเดินล้ำเส้นเหลือง รวมทั้งวิเคราะห์ผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุกรณีคนเป็นลมหรือชักชัก จะส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่แบบ Real-Time
- MEC (Multi-Access Edge Computing) ซึ่งเป็นระบบที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำโซลูชัน และรองรับการต่อยอด Use Case 5G ในอนาคต เพื่อให้เกิดการเข้าถึงที่รวดเร็วและมีความ หน่วงในการทำงานต่ำ (Low latency) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบและข้อมูลที่เก็บอยู่ที่ดาต้าเซนเตอร์ในสถานีกลางบางซื่อได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการส่งข้อมูลกลับสู่เครือข่ายเน็ตเวิร์คหลัก จึงมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน เนื่องจากข้อมูลจะมีการรับ-ส่งอยู่ภายในระบบของสถานี