“อลงกรณ์” เดินหน้า “เพชรบุรีโมเดล” ดีเดย์ 11 พ.ย.พัฒนาโคขุน-โคนมพื้นเมือง

08 พ.ย. 2565 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 21:26 น.

“อลงกรณ์” ลุยเดินหน้าตามแผน “เฉลิมชัย” มอบนโยบายเร่งเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืนตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13 นำร่อง “เพชรบุรีโมเดล” ดีเดย์ 11 พ.ย.พัฒนาโคขุน-โคนมพื้นเมือง ตั้งเป้าพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูง

“อลงกรณ์” เดินหน้า “เพชรบุรีโมเดล” ดีเดย์ 11 พ.ย.พัฒนาโคขุน-โคนมพื้นเมือง

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย วันนี้ (8 พ.ย.65) ว่า ภายใต้นโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้เร่งเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยตั้งเป้าหมายพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13ในระหว่างปฏิบัติราชการที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่21ตุลาคมที่ผ่านมาสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีโดยคำแนะนำของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯจึงได้จัดการประชุมเรื่อง “การพัฒนาโคขุนโคนม โคพื้นเมืองและวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทย”เป็นครั้งแรกเพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนในวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. เวลา 14.00- 16.00 น. ณ ห้องประชุม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี

 

 

โดยประสานงานเชิญทุกภาคส่วนได้แก่จังหวัดเพชรบุรี พาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตชะอำ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาพันธ์เอาเอ็มอี ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนโคนมโคพื้นเมือง วัวลาน วิสาหกิจชุมชนโค โคแปลงใหญ่ และตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ ฯลฯ.เข้าร่วมประชุม

 

 นายอลงกรณ์กล่าวว่า “เพชรบุรี” เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคขุนโคนมและโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศถือเป็นฐานรายได้สำคัญของเกษตรกรจึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้ายกระดับการพัฒนาแบบครบวงจรภายใต้โครงการเพชรบุรีโมเดลตั้งแต่พันธุ์โค อาหารสัตว์ มาตรการฟาร์ม การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ และการตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์

“อลงกรณ์” เดินหน้า “เพชรบุรีโมเดล” ดีเดย์ 11 พ.ย.พัฒนาโคขุน-โคนมพื้นเมือง

 

เช่นกรณีของพรี่เมี่ยมบี๊ฟ(Premium Beef)แปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอก สเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ โดยจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และส่งไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าได้อีกด้วยหรือกลุ่มโคเพชรบุรีสามารถส่งโคไปภาคใต้สู่ตลาดมาเลเซียเป็นต้นหากมีการยกระดับการพัฒนาจะเพิ่มศักยภาพเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมากขึ้นโดยเฉพาะการขยายความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียด้านการเกษตรและปศุสัตว์จะเพิ่มช่องทางใหม่ๆให้กับเพชรบุรีซึ่งเลี้ยงและจำหน่ายโคกว่า140,000-150,000ตัวต่อปี

 

พร้อมกันนี้ก็จะจะพัฒนาวัวลานซึ่งเป็นกีฬาประเพณีวิถีไทยสู่มาตรฐานใหม่ให้สามารถจัดการแข่งขันได้สม่ำเสมอรวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การจัดระดมพลคนปศุสัตว์กลุ่มโคเพื่อผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนจึงเป็นก้าวใหม่ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

“ขณะนี้เรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนและเกษตรกรสำคัญที่สุด ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกที่ทุกหน่วยงานในสังกัดต้องเดินหน้าสร้างอาชีพสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรของเราซึ่งต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจาก ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ ไฟฟ้า และน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด19และสงครามรัสเซีย-ยูเครน”

 

“อลงกรณ์” เดินหน้า “เพชรบุรีโมเดล” ดีเดย์ 11 พ.ย.พัฒนาโคขุน-โคนมพื้นเมือง

 

นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า จะมีการจัดประขุมการพัฒนาปศุสัตว์กลุ่มอื่นๆเช่น ไก่เนื้อไก่ไข่ไก่สวยงามไก่ชนและสุกร ฯลฯ เช่นเดียวกับทางด้านการพัฒนาอาชีพประมงก็จะจัดประชุมกลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มประมงพาณิชย์ กลุ่มแปรรูปประมง กลุ่มพืชน้ำ ฯลฯซึ่งต้นเดือนที่ผ่านมาก็มีการประชุมใหญ่เรื่องกุ้งกุลาดำเพชรบุรีโดยชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและกรมประมงให้การสนับสนุน