น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

30 ต.ค. 2565 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2565 | 00:37 น.
1.9 k

น้ำนมดิบขาดแคลน พ่นพิษ ศูนย์รวบรวมนม-สหกรณ์ฯ เปิดศึกแย่งเกษตรกร วงการชี้เป็นเรื่องดีช่วยยกระดับรายได้ วอนอย่าเอาเกษตรกรเป็นตัวประกัน ด้าน เอกชน-สหกรณ์ 106 ราย ชิงเค้กนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ปี 66 ดันปริมาณแข่งขายน้ำนมพุ่ง กว่า 2,289 ตัน/วัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากกรณีสหกรณ์โคนมภาคเหนือ สมาชิกชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ร้องเรียนว่ามีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดจะเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกที่ส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ คาดจะมีบางส่วนย้ายไปส่งน้ำนมดิบให้กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบแห่งใหม่นั้น

 

น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

 

นายชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์ นายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแข่งขันเป็นเรื่องดี ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและได้รับผลประโยชน์ ยกตัวอย่าง ในเขตภาคกลาง มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเอกชนจำนวนมาก ใครดูแลสมาชิกดี เกษตรกรก็ส่งน้ำนมให้ปกติ แต่ถ้าดูแลไม่ดีซื้อราคาต่ำกว่าราคากลางที่ภาครัฐกำหนด ทำให้เกษตรกรอึดอัด ยากที่จะดำรงอาชีพเลี้ยงโคนมต่อไปได้ ก็จะหันไปหาศูนย์นมอื่นที่ดีกว่า

 

น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

 

เช่นเดียวกับ นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ที่กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันต้นทุนการผลิตของเกษตรกรค่อนข้างสูง ต้องหาทางอยู่รอด ถ้าผู้ประกอบการไม่มีทางรอดให้เกษตรกร เกษตรกรก็ต้องไปหาทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อปกป้องอาชีพของตัวเองไว้ ขณะที่ ณ วันนี้มีหลายองค์กรที่บริหารจัดการธุรกิจแล้วเกิดข้อผิดพลาด และขาดทุนจะให้เกษตรกรไปร่วมแบกรับภาระหนี้จากการบริหารที่ผิดพลาดได้อย่างไร

 

 

ส่วนการกล่าวอ้างเรื่องใครผิดสัญญากับใคร ไม่ควรเอาเกษตรกรมาเป็นตัวประกัน เพราะเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญา แต่การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกษตรกรมีการพัฒนา และมีโอกาสเลือกจะส่งน้ำนมดิบระหว่างศูนย์รวบรวมนมเก่า และศูนย์รวบรวมนมใหม่

 

 

 “วันนี้จะไปตีกรอบว่าศูนย์ใหม่ไม่ดีไม่ได้ ถ้าศูนย์รวบรวมน้ำนมใหม่ไม่ดีเกษตรกรคงไม่ไปส่งน้ำนมให้ และถ้าศูนย์เก่าดีเกษตรกรก็คงไม่ออกจากศูนย์เก่า เกษตรกรที่ออกไปโดยความสมัครใจหรือขู่บังคับ ถ้าออกไปโดยความสมัครใจก็ต้องไตร่ตรองแล้วว่าออกไปมีชีวิตที่ดีกว่าแน่นอน อยู่ตรงไหนคุ้มค่าก็ไป เพราะวันนี้ไม่มีใครช่วยได้เลย ทั้งที่ต้นทุนสูงขนาดนี้ จำเป็นต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดผิดด้วยหรือ”

 

น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

 

ขณะที่ นางสาวชยภัท เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ จำกัด กล่าวว่า จะไปบังคับเกษตรกรได้อย่างไร ถ้าดูแลดีมีอะไรให้เกษตรกรก็ไม่ไป เกษตรกรไม่ได้มีสัญญาอะไรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ทำไมจะไปส่งให้กับรายอื่นไม่ได้ ซึ่งหากน้ำนมดิบขาดแคลนทางสหกรณ์โคนมฯก็เพิ่มจำนวนโคเลี้ยงแก้ปัญหาทดแทน เพราะไปทำสัญญากับผู้ประกอบการแปรรูปนมไว้แล้ว

 

 แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการบริหารนมทั้งระบบ เผยภาพรวม 5 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่า ปริมาณน้ำนมดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนประชากรโคนมที่มีแนวโน้มลดลงด้วย โดยสิ่งที่จะต้องตระหนักต่อจากนี้คือ การนำข้อมูลดังกล่าวมาคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะจากสถาน การณ์ปัจจุบันมีผลกระทบต่อผู้ซื้อค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ซื้อมีการวางแผนการผลิตไปแล้ว แต่กลับมีน้ำนมไม่เพียงพอเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้ส่งผลต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย

 

โดยเฉพาะในปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำนมดิบลดลงค่อนข้างมากจากสภาวะที่ไม่ปกติ สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการเลี้ยงโคนมสูงขึ้น เช่น ราคาอาหารหยาบและราคาอาหารข้นปรับตัวสูงขึ้น นำมาซึ่งการเลิกกิจการของเกษตรกรบางราย อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีแนวทางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยการปรับราคาน้ำนมดิบให้สูงขึ้น แต่เห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ในระยะยาว แต่เป็นเพียงการพยุงสถาน การณ์ และแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ถ้าไม่แก้ไขจากสาเหตุที่แท้จริงในเรื่องของต้นทุนการเลี้ยงโคนม การบริหารจัดการ การควบคุมราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอีกเป็นวงกว้าง

 

น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

 

 

ปัจจุบันความสามารถในการผลิตน้ำนมของโคนมต่อตัวเฉลี่ย 10-11  กิโลกรัม (กก.) ต่อวัน โดยปริมาณโครีดนมทั้งประเทศที่ได้รับรายงานมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 2.7 แสนตัว พบว่าปัจจุบันจะให้น้ำนมดิบเฉลี่ย 2,700 - 2,970 ตันต่อวัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ มีปริมาณโคดราย (Dry Cow) ราว 8 หมื่นตัว โคสาวท้องอีก 4 หมื่นตัวที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมในระบบ ดังนั้นคาดว่าในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565  น้ำนมดิบอาจจะเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 3,500 ตันต่อวัน หากไม่มีเหตุการณ์หรือปัจจัยอื่นใดมากระทบ (น้ำนมดิบเฉลี่ย เดือน ส.ค. 2,861.651 ตันต่อวัน)

 

 

น้ำนมดิบขาดแคลน “ศูนย์นม-สหกรณ์” เปิดศึกแย่งเกษตรกร

 

 

“ทางคณะฯ เห็นชอบผลการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายน้ำนมโค ปี 2565/2566 ปริมาณน้ำนมดิบ 3,390.797 ตันต่อวัน จำนวนคู่ MOU 429 คู่  (กราฟิกประกอบ) ผลจากการยื่นสมัครพบว่า ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการยื่นมา 106 ราย ปริมาณน้ำนมดิบที่ยื่น 2,289.304 ตันต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปีที่แล้ว 1,900 ตันต่อวัน ขณะที่นมโรงเรียนใช้น้ำนมดิบ 1,045 ตันต่อวัน โดยคิดเฉลี่ยจากจำนวนเด็ก 6.9 ล้านคน  ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,831 วันที่ 30 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565