ททท.ปั้มเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้าน สู้ศึกคนไทยเที่ยวนอก

27 ต.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2565 | 03:32 น.
1.0 k

ททท.กางแผนปั้มเที่ยวในประเทศดันรายได้แตะ 8 แสนล้านบาท สู้ศึกคนไทยเที่ยวนอก หลังหลายประเทศทยอยกลัยมาเปิดประเทศแล้ว

การปิดประเทศของประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ในขณะนี้หลายประเทศกลับมาเปิดประเทศแล้ว ทำให้คนไทยเริ่มทยอยเดินทางเที่ยวต่างประเทศ การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีหน้าจะมีทิศทางเช่นไร นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีคำตอบ

 

ททท.ปั้มเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้าน สู้ศึกคนไทยเที่ยวนอก

 

 

 

สถานการณ์ตลาดในประเทศในช่วง 9 เดือนของปี 2565 พบว่ามีการเดินทางเที่ยวในประเทศแล้ว 177 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย (พักค้างคืน) 103 ล้านคน และนักทัศนาจร (มาเที่ยวแต่ไม่พักค้างคืน) 73 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 642,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุด และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก็มีแนวโน้มเดินทางเพิ่มขึ้น

 

ทำให้ตลอดทั้งปีนี้เป้าหมายคนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศจะเกิน 160 ล้านคน-ครั้งแน่นอน และรายได้ก็น่าจะเกินเป้า 650,000 ล้านบาทด้วยเช่นกัน

 

ททท.ปั้มเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้าน สู้ศึกคนไทยเที่ยวนอก

 

เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ประกอบกับมีวันหยุดยาวติดต่อกัน รวมถึงมาตรการของรัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ประกอบกับปลายปีที่เป็นช่วงหน้าหนาว และถ้าสถานการณ์นํ้าท่วมคลี่คลาย การเดินทางก็น่าจะเพิ่มขึ้น

 

การทำตลาดในประเทศของททท.จะเน้น “การทำตลาดแบบก้าวกระดก” คือทำอย่างรวดเร็วให้ตรงตามพฤติกรรมของ นักท่องเที่ยวในแต่ละเซ็กเมนต์ หรือเรียกว่าถ้าเซ็กเม้นท์ไหนชอบแบบไหนเราก็รุกเข้าไปทำตลาด ซึ่งจากดาต้าเบสเราพบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทย ตลาดคู่รัก หรือเลิฟเวอร์ ทั้งสายวาย หรือสายอะไรก็แล้วแต่มีสัดส่วนสูงถึง 36% ตามมาด้วยกลุ่มเพื่อนๆ

 

อาทิ ซีเนียร์แอคทีฟ 18% กลุ่มครอบครัวที่มีลูกเล็ก 10% กลุ่มเดินทางคนเดียวที่เป็นผู้ชาย 9.5% กลุ่มมิลเลียนเนียน ที่เป็นกลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ หรือครอบครัวใหญ่ 9% กลุ่มเที่ยวเองที่เป็นผู้หญิง 8% กลุ่มผู้หญิงทำงาน 5% และกลุ่มเครือญาติ สังสรรค์ท่องเที่ยว 3.2%

 

จากพฤติกรรมการเดินทางเที่ยวในประเทศของไทย  ททท.ได้สังเคราะห์พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม

 

1. กลุ่มที่มองว่าการท่องเที่ยวคือชีวิต แม้มีเหตุการณ์นํ้าท่วมหรือโควิดก็ยังเที่ยวอยู่

 

2. เที่ยวใกล้แต่เที่ยวบ่อย ใช้รถยนต์ส่วนตัว

 

3. การท่องเที่ยวธรรมชาติ โซโลเดินทางเยอะ มาตรการสาธารณสุขยังต้องให้ความสำคัญกลุ่มนี้

 

4. กลุ่มตลาดในประเทศเราทำมาตั้งแต่เริ่มโควิด อย่างกลุ่ม Workation 1-2 ปีที่ผ่านมา หรือล่าสุดที่รัฐบาลยอมให้หน่วยงานภาครัฐทำงานนอกสถานที่ได้ ททท.ก็จะต้องหารือกับผู้ประกอบการโรงแรมในการให้สิทธิพิเศษแก่กำลังพลภาครัฐถ้าไปทำงานนอกสถานที่

 

5. การท่องเที่ยวไม่ใช่ทุกสิ่งทำอย่างในชีวิต แต่เราก็ยังให้ความสำคัญในตลาดนี้อยู่

 

สำหรับกลยุทธในการส่งเสริมตลาดในประเทศในประเทศ ขณะนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า แม้จะมีการเปิดประเทศ ทำให้คนไทยมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้แล้ว แต่ททท.ก็มีกลยุทธในการดึงดูดให้คนเที่ยวในประเทศ ซึ่งตอนนี้สำนักงานในประเทศทั้ง 45 แห่ง จะเน้นใน 4 กลยุทธ์ ได้แก่

 

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างความเชื่อมั่นด้านบริการสุขอนามัย เราปรับโครงสร้างมาตฐาน SHA ทั้ง 10 ประเภท ให้ได้รับและเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น การสร้างความมั่นใจเราทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่อะไรก็ตาม ก็ยังใช้มาตรฐานนี้ได้ แต่ก็จะเพิ่มดีกรีขึ้นตามความเหมาะสม

 

นอกจากนี้ยังเน้นบูรณาการทำงานร่วมกับพันธมิตร ผลักดันเรื่องสปอร์ตทัวริสซึม การท่องเที่ยวชุมชม การจัดกิจกรรมเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ ก็จะจัดอบรมรีสกิลและอัพสกิลให้ผู้เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวกว่า 2,500 คนทั่วประเทศ เพื่อให้คนเหล่านี้ไปขยายผลที่ดีต่อในชุมชนในการเป็นเจ้าภาพที่ดี

 

กลยุทธ์ที่ 2 เน้นทำคอนเท้นต์ที่ตอบสนองการเดินทางท่องเที่ยวที่มีความหมายเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้าแฟล็กชิพตลาดในประเทศ จะให้ความสำคัญ 365 วันมหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน ที่จะไม่ใช่แค่เทศกาลประเพณี แต่จะมีการคลีเอดคอนเท้นท์ด้านต่างๆ

 

อาทิ อาหาร วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวแบบศรัทธา ซึ่งททท.ภูมิภาคต่างๆ ต้องคิดว่าใน 365 วันจะมีอะไรเข้ามาเติมเต็มกระตุ้นให้เที่ยวได้ในทุกวัน ที่จะมีการเปิดตัวใหญ่ในวันที่ 15-18 ธ.ค.65 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

โดยมีทั้งการเจรจาธุรกิจแบบบีทูบี อัพเดทโปรดักซ์ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะนำผู้ประกอบการกว่า 1 พันคนมาอัพเดทโปรดักซ์ 5 ภาค บีทูซี นักท่องเที่ยว นักลงทุน นักกีฬา ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย มาซื้อสินค้าและบริการ และบีทูจี หลายกระทรวงนำโปรดักซ์มาโชว์เคส อาทิ ด้านศาสนา ชุมชม เกษตร กีฬา เฮล์ธแอนด์เวลเนส

 

รวมทั้งเรายังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนเน้นสร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น ททท.ทำงานร่วมกับหอการค้า นำเสนอชุมชนธรรมดาน่าเที่ยว 15 ชุมชน การเปิดตัวอันซีนนิวแชปเตอร์ เพิ่มอีก 25 แห่ง เน้นผสานแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่มีเรื่องบีซีจี การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

 

กลยุทธ์ที่ 3 การเน้นเรื่องการจัดกิจกรรม ไทยแลนด์ เฟสติวัล เอ็กซ์พีเรียน การจัดอีเว้นท์ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ชุมชน เช่นการจัดวิ่งเทรลสายมู วิ่งเทรลชุมชน การจัดเทศกาลดนตรี การดึงอินเตอร์เนชั่นแนลอีเว้นท์มาจัดในไทย

 

กลยุทธที่ 4 กระตุ้นเดินทางด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เช่น รถทัวร์ทั่วไทย กิจกรรมต่างๆ อาทิ เที่ยวเมืองไทยแบบที่ใช่สไตล์ที่ชอบ ,เที่ยวเมืองไทยให้หายคิดถึง ที่ผู้ประกอบการเสนอราคาพิเศษเพื่อมาร่วมจัดกิจกรรมหรือโครงการในการกระตุ้นท่องเที่ยว

 

“ในขณะนี้เราก็กำลังดูความชัดเจนของโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 รวมถึงบูสเตอร์ช็อต ที่ททท.จะขอรับการสนับสนุนงบจากรัฐบาล ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาพัฒน์ ทั้งเราก็หวังว่าโครงการช้อปดีมีคืน อยากให้กระทรวงการคลังรวมการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมบริการไว้ด้วย

 

ถ้ามาตรการเหล่านี้คลอดออกมา ก็จะยิ่งทำให้เกิดพลังในการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งปีหน้าททท.หวังว่าจะดึงตลาดให้กลับคืนมา 80% ของปี 62 ก็น่าจะมีรายได้จากตลาดในประเทศอยู่ที่ 8.8 แสนล้านบาท” รองผู้ว่าททท.กล่าวทิ้งท้าย