นโยบายการเงินญี่ปุ่น "คงดอกเบี้ยต่ำ-กดค่าเงิน"อาจจบด้วยการเกิดวิกฤต

25 ต.ค. 2565 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2565 | 17:32 น.
903

ปธ.สภาตลาดทุนไทย ชำแหละนโยบายการเงินญี่ปุ่น ชี้การ"คงดอกเบี้ยต่ำ- กดค่าเงิน" ไปพร้อมกัน จะเป็นเป้าโจมตีของนักเก็งกำไร ผลักดันเงินไหลออก เงินสำรองประเทศลด จนนำไปสู่วิกฤตในที่สุด

 

จากการที่ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงิน เป็นรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก รมต.คลังของญี่ปุ่น ออกมากล่าวว่า เรากำลังสู้กับนักเก็งกำไรอยู่ ทุบค่าเงินเยนลงไปที่ 145.56 เยน/ดอลลาร์ โดยการแทรกแซงค่าเงินเยนรอบที่ 2  คาดว่าน่าจะใช้เงินมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท (ราว 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ช่วยให้เงินเยนอ่อนค่าลง 3.5 เยน จากที่แข็งค่าขึ้นมา 6 เยน ล่าสุดอยู่ที่ 149.7 เยน/ดอลลาร์ 

 

ล่าสุด ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย  และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความ ผ่านเฟสบุ๊ก Kobsak Pootrakool แสดงความเห็นต่อการใช้นโยบาย "คงดอกเบี้ยต่ำ -กดค่าเงิน" ของญี่ปุ่น หวั่นว่าอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตได้ในที่สุด  รายละเอียดดังนี้

 

หนทางสู่วิกฤตของญี่ปุ่น !!!!
ถ้าทางการญี่ปุ่นยังเลือกที่จะเดินตามแนวทางปัจจุบัน 

 

 

  • กดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไว้ให้ต่ำ เพื่อช่วยรัฐบาลที่มีหนี้มาก
  • กดค่าเงินไว้ไม่ให้อ่อนไปกว่านี้

 

ทั้งหมด คงจบลงด้วยการเกิดวิกฤต

 

ที่จะเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์ 3 สิ่งที่อยู่ด้วยกันแล้วจะเป็นเรื่อง ก็คือ ค่าเงินที่คงที่ ดอกเบี้ยที่เลือกกำหนดตามใจฉัน และเงินทุนที่ไหลอย่างอิสระ (Free Flow of Capital) 

 

ทฤษฎีนี้เรียกว่า Impossible Trinity หรือ "สามเป็นไปไม่ได้" ซึ่งถูกคิดค้นโดย Robert Mundell นักเศษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และ John Fleming เมื่อช่วงปี 1960-1963

 

ประเทศไหนก็ตามที่พยายามจะทำใน 3 สิ่งนี้พร้อมๆ กัน ปัญหาก็จะตามมา 

 

โดยประเทศที่มีค่าเงินคงที่ แต่อยากจะกดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เงินจะไหลออกจากประเทศ จากดอกเบี้ยต่ำ ไปหาประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า นำมาซึ่งเงินสำรองที่จะหร่อยหรอลงจนสุดท้าย ก็เกิดวิกฤตค่าเงิน

 

หรือประเทศที่กดดอกเบี้ยไว้ต่ำกว่าคนอื่น แต่อยากตรึงค่าเงินไว้ ณจุดใดจุดหนึ่ง สุดท้ายก็จะประสบปัญหาเดียวกัน คือเงินไหลออก นำไปสู่แรงกดดันต่อค่าเงินที่ตรึงไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สุดท้ายเงินสำรองก็หร่อยหรอ และสุดท้ายก็ไม่สามารถคงค่าเงินไว้ได้ กลายเป็นวิกฤตเช่นกัน

 

สิ่งที่ทางการญี่ปุ่นทำขณะนี้ ก็คือเรื่องนี้

 

  • 1.โลกที่ญี่ปุ่นอยู่ คือโลกของเงินที่ไหลเวียนอย่างอิสระ
  • 2. อีกด้าน การที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้ภาครัฐเยอะมาก สูงถึง 264% ของ GDP ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้ในประเทศ ทำให้ทางการญี่ปุ่นซึ่งขาดดุลการคลังอยู่แล้วถึง 8% ของ GDP และมีภาระดูแลสังคมผู้สูงวัย อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศอย่างยิ่ง 

 

ไม่น่าแปลกใจ ที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นจึงมีหน้าที่พิเศษอีกอย่าง ก็คือ ต้องพยายามช่วยกดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นเอาไว้ โดยดูแลดอกเบี้ยใน Yield Curve ของญึ่ปุ่นที่อายุช่วง 7-10 ปีลงมา ให้ปรับตัวขึ้นไม่มาก เพียงแค่ 0.25% เท่านั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่น ได้ประกาศโครงการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ต้องประกาศ Emergency Bond Buying Program อีก 2.5 แสนล้านเยน

 

 

  • 3. ค่าเงิน จากเดิมที่ญี่ปุ่นเคยปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่เนื่องจากช่วงนี้ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง อ่อนสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 กว่าปี ทางการญี่ปุ่นจึงเริ่มกังวลใจ และเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้อ่อนไปกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ พยายามขีดเส้นไว้ที่ประมาณ 150 เยน/ดอลลาร์

 

ซึ่งในเรื่องนี้ หากทางการญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการตรึงค่าเงินไว้ที่ 150 เยน/ดอลลาร์ ตามที่ตั้งใจได้ ระบบค่าเงินเยนก็จะทำตัวเหมือนอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือใกล้เคียงกับระบบดังกล่าว

 

ทั้งหมดจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าเงื่อนไขของทฤษฎี "สามเป็นไปไม่ได้" หรือ Impossible Trinity และหมายความต่อไปว่า ถ้ายังคงเดินไปตามทางนี้ เงินดอกเบี้ยต่ำในญี่ปุ่น ก็จะไหลออกไปหาเงินดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ โดยมีทางการญี่ปุ่นช่วยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ 

 

เงินที่ไหลออก ก็จะกดดันต่อค่าเงินเยน และทำให้เงินสำรองที่ญี่ปุ่นมีอยู่ 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดของโลก จะเริ่มค่อยๆ ถูกตอดออกไป ซึมออกไป ลดลงเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ ยังจะเป็นเป้าการโจมตีเป็นระลอกๆ ทำให้เงินสำรองลดลงถึงระดับที่น่ากังวลใจ  และนำมาซึ่งวิกฤตในที่สุด

 

ก็ได้แต่หวังว่า ทางการญี่ปุ่นจะเปลี่ยนใจ เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง "คงดอกเบี้ยไว้ต่ำ" หรือ "รักษาค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนไปกว่านี้"เพราะสงครามกับนักเก็งกำไร มักจะจบไม่ดี โดยเฉพาะสำหรับประเทศเปราะบาง และมีจุดอ่อนอยู่ภายใน มักจะแพ้สงครามดังกล่าว จากเงื่อนไขที่ถูกมัดมือไว้ 

 

ยิ่งเมื่อฉลามได้กลิ่นเลือด ฝูงฉลามจะพากันมาเยือน  ทำให้เงินที่คิดว่ามีมาก มี Unlimited ก็อาจจะไม่พอได้เช่นกัน

 

 

#ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ #หนทางสู่วิกฤต