นายกฯ ปลื้มสัมมนาร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย–เกาหลีใต้ เงินสะพัด 4 พันล้าน

16 ต.ค. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 21:42 น.

นายกฯ ยินดีกับผลสำเร็จจากการจัดงาน Thailand – Korea Economic Cooperation Forum 2022 สะท้อนนักธุรกิจเชื่อมั่นร่วมลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างมูลค่าทางการค้าได้กว่า 4,000 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลสำเร็จจากการจัดงานสัมมนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย – เกาหลีใต้ (Thailand – Korea Economic Cooperation Forum 2022) เมื่อวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2565

นายกฯ ปลื้มสัมมนาร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย–เกาหลีใต้ เงินสะพัด 4 พันล้าน

โดยนักธุรกิจทั้งไทยและเกาหลีใต้ให้ความสนใจ เข้าร่วมงานกว่า 600 ราย เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ได้ 120 คู่ สร้างมูลค่าทางการค้าการลงทุนได้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสมาร์ทซิตี้ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานอัจฉริยะ

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ (KOTRA) ได้ร่วมกันจัดงาน สัมมนาฯ ซึ่งถือเป็นการจัดการประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือ 5 ฉบับระหว่างไทยและเกาหลีใต้ในกลุ่มอุตสาหกรรมสมาร์ทซิตี้ เช่น MOU ระหว่าง Smart City Association และ Thai IOT Association MOU ระหว่างบริษัทด้านไอทีของเกาหลี และเทศบาลท้องถิ่นรวมถึงบริษัทเอกชนของไทย

 

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนมกราคม 2555 – กันยายน 2565) BOI รายงานว่า มีโครงการจากเกาหลีใต้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 365 โครงการ มูลค่ารวม 65,123 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2. เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ และ 3. เคมีภัณฑ์และกระดาษ ประกอบกับ ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศใช้นโยบาย New Southern Policy เปิดโอกาสให้เกาหลีใต้ ร่วมลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้น

 

“ผลสำเร็จจากการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากเป็นการย้ำความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยและเกาหลีใต้ที่แนบแน่นอยู่แล้วให้กระชับมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการย้ำความมั่นใจ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไทย และภูมิภาค โดยเฉพาะถือเป็นการพัฒนากลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแนวนโยบายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ทั้งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S - Curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต  (New S - Curve)” นางสาวรัชดาฯ กล่าว