“สันติ”ปัดอีอีซีเอื้อทุนใหญ่ ส่งเสริมการลงทุนทุกกลุ่มทั้งคนไทย ต่างชาติ

15 ต.ค. 2565 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2565 | 18:22 น.

“สันติ กีระนันท์”ร่ายยาวโครงการอีอีซี มีความยืดหยุ่น ไม่เอื้อเฉพาะนายทุนใหญ่ สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งคนไทยและต่างชาติ ยกอีอีซี-ไอ แหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และหนุนเกษตรกรรายย่อยใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร

ดร.สันติ กีระนันท์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสท์เฟซบุ๊ก วันนี้(15 ต.ค.65) เรื่อง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ระบุว่า ได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับแนวคิด “เขตธุรกิจใหม่” เปรียบเทียบกับ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า EEC แล้ว ก็อยากจะแสดงความคิดเห็น โดยเก็บข้อมูลจากพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 


ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรมยุคที่เริ่มต้นของ EEC และช่วงที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ให้ความสนใจเรื่อง EEC โดยทำการศึกษา และได้เชิญผู้บริหารของ EEC มาให้ข้อมูลอยู่หลายครั้ง

อันที่จริง ก็ต้องแสดงความดีใจที่มีแนวคิดเขตธุรกิจใหม่เกิดขึ้น แสดงถึงการเห็นคุณประโยชน์ของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างจริงจัง ดังที่ผมได้พยายามนำเสนอมาโดยตลอดหลายปีนี้ แต่รัฐบาลปัจจุบันก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจความจำเป็น จึงไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว


อย่างไรก็ดี ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า EEC ยังไม่ตอบโจทย์หลายประการนั้น เช่น เน้นเฉพาะการให้แรงจูงใจด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค หรือนำเสนอชุดกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ได้จริง หรือประเด็นที่คลาดเคลื่อนว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น 

รวมไปถึงความเข้าใจที่ว่า EEC นั้น ไม่ได้คำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเข้าใจว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการ hard code ไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกบางประการ


ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งครับว่า เป็นสิ่งที่ดีครับ ที่มีความพยายามเสนอแนวความคิดให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ เพื่อผลักดันให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และไม่สร้างปัญหาแก่การดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป หรืออาจจะพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับผู้คน


หากได้อ่านพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ๒๕๖๑ โดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ความเข้าใจเหล่านั้นมีความคลาดเคลื่อน ดังที่ผมได้ชี้แจงเริ่มต้นไป

 

เพราะจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ให้ความยืดหยุ่น(flexibility) ในการสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและมีการกำหนด “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” (มาตรา 4) ไว้ โดยครอบคลุมทุกเรื่อง และหากมีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ยังกำหนดไว้ในมาตรา 9 เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือ “ชุดกฎหมาย” ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกำหนด “สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ” นักลงทุนเท่านั้น 


ประเด็นนี้ทำให้ EEC มีความแตกต่างจาก eastern seaboard อย่างมากมายครับ


ยิ่งไปกว่านั้น EEC ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะทุนใหญ่เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า EEC มีการกำหนดเขตย่อยเป็น EEC-D (digital economy), EEC-I (innovation) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EEC-I นั้น มุ่งเน้นให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ startup ขึ้นในพื้นที่ ดังตัวอย่างที่ ปตท. ได้มีการลงทุนสร้าง วังจันทร์valley เพื่อให้เกิด ecosystem คล้าย ๆ กับ Silicon Valley ใน California 


แน่นอนว่า คงจะไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ (ในตอนเริ่มต้น) และแม้กระทั่งความพยายามส่งเสริมให้เกิดfruit corridor เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นต้น 


EEC ไม่ได้ตั้งใจจะส่งเสริมเฉพาะการลงทุนจากทุนต่างประเทศเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา 7 (2) ที่เขียนไว้ชัดว่าให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้พื้นที่ และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เขียนในพระราชบัญญัติเท่านั้นแต่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถกำหนดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

                         “สันติ”ปัดอีอีซีเอื้อทุนใหญ่ ส่งเสริมการลงทุนทุกกลุ่มทั้งคนไทย ต่างชาติ
และในมาตร 7(1) หากอ่านให้ดี ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดการพัฒนาให้เป็น smart city หรือเมืองอัจฉริยะไปพร้อมกัน ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาอย่างครบวงจร ไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าง eastern seaboard ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้พวกเราได้ลืมตาอ้าปากมาได้ 


และเมื่อมาขยายการพัฒนาให้ครบวงจรมากขึ้นอย่างแนวคิด EEC แล้ว หากรัฐบาลปัจจุบันเข้าใจแนวคิด และดำเนินการอย่างจริงจัง จะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศมากเพียงใด ... แค่หลับตาก็คงพอนึกออกแล้วครับ

 

เห็นไหมครับว่า แนวคิดของ EEC นั้น ไม่ได้ถูกจำกัดอย่างที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน 


เป็นสิ่งที่ดีครับที่มีความตั้งใจให้เกิดการพัฒนาเขตธุรกิจใหม่ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ต้นแบบที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ EEC อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็คือกำหนดไว้เฉพาะเพียงภาคตะวันออก 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 


แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบาย อาจจะกำหนดเพิ่มเติมได้ แต่หากให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเดิม อาจจะต้องใช้แนวคิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ขยายวงให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษในภาคอื่น ๆ ได้ โดยอาจจะใช้ EEC เป็นต้นแบบ ซึ่งกระบวนการแก้พระราชบัญญัติก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินไป (อย่างน้อยก็ง่ายกว่า การยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับ) โดยเรียนรู้จาก prototype อย่าง EEC

 

ขอย้อนกลับมาแสดงความเสียดายอีกครั้งว่า รัฐบาลปัจจุบันคงไม่เข้าใจความสำคัญของแนวคิด EEC และไม่ได้สนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย อย่างน้อยก็ประมาณ 3 ปีหลังมานี้

 

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งของผมก็คือ หมดยุคแล้วครับที่จะนำเสนอของใหม่โดยพยายามจะล้มล้างของเดิมที่ดีอยู่แล้วเพียงเพราะว่าตนเองไม่ได้เป็นต้นคิด ซึ่งการทำเช่นนั้น เป็นการเสียเวลาและต้นทุนเป็นอย่างมาก แต่หากจะเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) เสียใหม่ เป็นการปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่รังเกียจว่าตนเองไม่ได้เป็นคนเริ่มโครงการ น่าจะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์มากกว่านะครับ