เจาะแผน "เน็กซ์ พอทย์" ผลิตรถเมล์อีวี-สร้างโรงงานใหม่ ขึ้นแท่นฮับอีอีซี

12 ก.ย. 2565 | 14:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2565 | 21:26 น.
893

"เน็กซ์ พอทย์" เปิดแผนผลิตรถเมล์อีวี ตั้งเป้าส่งมอบปี66 แตะ 3.1 พันคัน เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า ดีเดย์ 19 ก.ย.นี้ ทยอยมอบรถร่วม บขส. ล็อตแรก 57 คัน นำร่องเส้นทาง EEC เริ่ม 19 ก.ย.นี้ เตรียมทุ่ม 6 พันล้าน สร้างโรงงานผลิตใหม่ บูมพื้นที่อีอีซี

นายคณิสสร์ ศรีวัชรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ตามที่ได้เปิดตัวโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรแห่งแรกของคนไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด หรือ AAB อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว มีกำลังในการผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปีนั้น

 

 

เจาะแผน \"เน็กซ์ พอทย์\" ผลิตรถเมล์อีวี-สร้างโรงงานใหม่ ขึ้นแท่นฮับอีอีซี

  ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนจะผลิตรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า (รถเมล์ EV) เพื่อส่งมอบให้ผู้ประกอบการนำไปให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 3,195 คัน ซึ่งได้ส่งมอบไปแล้วกว่า 200 คัน โดยในปีนี้ จะต้องส่งมอบขั้นต่ำ 1,250 คัน และทยอยส่งมอบส่วนที่เหลือให้ครบทั้งหมดภายในปี 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำรถมาบรรจุในเส้นทางภายใน 180 วันตามที่กำหนด

 

 

สำหรับรถเมล์ไฟฟ้าที่ส่งมอบดังกล่าวนั้น เป็นรถขนาด 11 เมตร มี 31 ที่นั่ง บรรทุกผู้โดยสารได้ 80 คนต่อคัน โดยมีต้นทุนคันละประมาณ 6.8-7 ล้านบาท ใช้เวลา 1 ชม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งให้บริการได้ระยะทาง 300-350 กิโลเมตร (กม.) ทั้งนี้บริษัทฯ จะต้องติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าต้นทาง-ปลายทางด้วย

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ เตรียมส่งมอบรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ขนาด 7.3 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง ที่สั่งผลิตโดยรถร่วม บริษัท ขนส่ง จำกัด (รถร่วม บขส.) โดยเบื้องต้นจะส่งมอบล็อตแรกจำนวน 57 คัน ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เพื่อนำไปให้บริการเส้นทางระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะเส้นทางอีอีซี เช่น กรุงเทพ-ศรีราชา ฯลฯ จากนั้นจะทยอยส่งมอบล็อตต่อไปอีกจำนวน 200 คันภายในปีนี้ และครบทั้งหมด 1,000 คันภายในปี 2566

 

เจาะแผน \"เน็กซ์ พอทย์\" ผลิตรถเมล์อีวี-สร้างโรงงานใหม่ ขึ้นแท่นฮับอีอีซี

 

สำหรับรถมินิบัสดังกล่าว มีต้นทุนคันละ 3 ล้านกว่าบาท โดยใช้เวลา 1 ชม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งให้บริการได้ระยะทางประมาณ 200 กม. ขณะเดียวกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้เวลาชาร์จสั้นลงเหลือประมาณ 15 นาที โดยบริษัทฯ จะติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าต้นทาง-ปลายทางให้เรียบร้อยตามแผนจำนวน 1,700 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ บขส. ยังอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อจัดหารถมินิบัส และรถโดยสารไฟฟ้านำไปให้บริการด้วยเช่นกัน

นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ยังมีคำสั่งซื้อผลิตยานยนต์หัวลากไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้าทดแทนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล โดยในปี 2565 มีออเดอร์การผลิตจำนวน 250 คัน และในปี 2566 ตั้งเป้าจะผลิตจำนวน 6,000 คัน นอกจากนี้ ยังสนใจจะผลิตรถบัสไฟฟ้าสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงรถรับ-ส่งพนักงานในนิคมอุตสาหกรรม รถที่ใช้ราชการ อาทิ รถเก็บขยะ และรถกระบะ 4 ประตูที่เตรียมเปิดตัวในปี 2566 ด้วย

เจาะแผน \"เน็กซ์ พอทย์\" ผลิตรถเมล์อีวี-สร้างโรงงานใหม่ ขึ้นแท่นฮับอีอีซี

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าปี 2565 จะมีรายได้จากการผลิตรถประมาณ 8,500 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะมีรายได้โตขึ้น 5 เท่า หรือมีรายได้ประมาณ 42,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนลงทุนวงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค บริเวณ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2568 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้ในปีดังกล่าว จะมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60,000 คันต่อปี