ไทยเซ็น MOU อียูอำนวยความสะดวกจดเครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตรในยุโรป

08 ต.ค. 2565 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2565 | 18:39 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสหภาพยุโรปเดินหน้าเชิงรุก อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทยจดเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรออกแบบในยุโรปสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เผยรอบ1 ปี ผู้ประกอบการไทยสนใจสืบค้นฐานข้อมูลอียูกว่า 22,500 ครั้ง

รายงานข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป (EUIPO) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าเชิงรุกเชื่อมต่อฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรออกแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทยให้จดเครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรออกแบบในต่างประเทศได้เร็วขึ้น

 

ไทยเซ็น MOU อียูอำนวยความสะดวกจดเครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตรในยุโรป

 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ได้นำคณะพบหารือกับนายคริสเตียน อาร์ชอมโบ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสหภาพยุโรป (EUIPO) ณ สำนักงาน EUIPO เมืองอาลิกันเต ประเทศสเปน พร้อมลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรออกแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรออกแบบในสหภาพยุโรปได้สะดวกยิ่งขึ้น

ไทยเซ็น MOU อียูอำนวยความสะดวกจดเครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตรในยุโรป  

 

ทั้งนี้จากสถิติการเข้าใช้งานฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรออกแบบของสหภาพยุโรปซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลของประเทศต่าง ๆ กว่า 81 ประเทศทั่วโลก พบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยมีการสืบค้นฐานข้อมูลดังกล่าวถึง 22,500 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากการสืบค้นข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาจากฐานข้อมูลของสหภาพยุโรป ในครั้งนี้ กรมฯ จึงได้ผนึกกำลังกับ EUIPO พร้อมยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทยให้ดียิ่งขึ้น

 

ไทยเซ็น MOU อียูอำนวยความสะดวกจดเครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตรในยุโรป

 

นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า จากการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน EUIPO ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่หารือกับกลุ่มเกษตรกรทับทิม มอลล่า เดอ เอลเช่ (Granada Mollar de Elche) ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีชื่อเสียงของประเทศสเปน เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้า

 

โดยกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวมีผู้ผลิตกว่า 600 ราย และมีองค์กรรับรองคุณภาพสินค้า GI อย่างเป็นระบบทุกขั้นตอนการผลิตจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและนอกสหภาพยุโรป ซึ่งกรมฯ จะนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพสินค้า GI ของไทยให้มีมาตรฐานสามารถรักษาชื่อเสียง สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป