สาวก "แอปเปิล" เฮ! คาด iPhone 15 มาพร้อมพอร์ต USB-C ตามกฎอียู

06 ต.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2565 | 14:40 น.

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า iPhone 15 ที่จะมีการเปิดตัวในปีหน้า (2566) จะมีพอร์ตรองรับสายชาร์จ USB-C ตามกฎระเบียบของอียู หลังรัฐสภายุโรปลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีจะต้องผลิตอุปกรณ์ที่สามารถใช้สายชาร์จตามมาตรฐาน USB-C

รัฐสภายุโรป ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อวันอังคาร (4 ต.ค.) กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีซึ่งรวมถึง แอปเปิล อิงค์ ผู้ผลิต iPhone จะต้องผลิตอุปกรณ์ที่สามารถใช้ สายชาร์จตามมาตรฐาน USB-C

 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องมีพอร์ต USB Type-C ตั้งแต่ปี 2567 ส่วนผู้ผลิตแล็ปท็อปจะต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าวในปี 2569

 

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาใน 27 ชาติของอียู โดยคาดว่าจะมีการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2566 

 

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอข้อกำหนดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าจะลดรายจ่ายสำหรับผู้บริโภคได้มากถึง 250 ล้านยูโรต่อปี เนื่องจากช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องเปลี่ยนสายชาร์จทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์ใหม่

บริษัทแอปเปิล อิงค์จะได้รับผลกระทบ “โดยตรง” จากข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจาก iPhone รุ่นใหม่ใช้สายชาร์จแบบ Lightning โดยแอปเปิลระบุว่า "ข้อกำหนดของอียูที่บังคับให้ใช้สายชาร์จเพียงประเภทเดียวจะลิดรอนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนที่จะเป็นการส่งเสริม และในที่สุดจะกลับส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในยุโรปและทั่วโลก"

 

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า iPhone 15 ที่จะมีการเปิดตัวในปีหน้า จะมีพอร์ตรองรับสายชาร์จ USB-C

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า iPhone 15 ที่จะมีการเปิดตัวในปีหน้า (2566) จะมีพอร์ตรองรับสายชาร์จ USB-C ตามกฎระเบียบของอียู ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า แอปเปิลกำลังพัฒนา iPhone รุ่นใหม่ซึ่งจะมีพอร์ตดังกล่าว ส่วน Macbook และ iPad Pro รุ่นปัจจุบันก็ได้ปรับไปใช้สายชาร์จ Type C แล้ว

 

ทั้งนี้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก โดยเฉพาะสาวกของ iPhone ต่างขานรับมติของรัฐสภายุโรปในครั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทางโดยไม่ต้องพกพาสายชาร์จที่แตกต่างกัน ขณะที่แอปเปิลเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเพียงรายเดียวในโลกที่ไม่มีพอร์ต USB-C

 

นอกจากอียูแล้ว อินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ออกกฎบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีผลิตอุปกรณ์ที่รองรับสายชาร์จ USB-C เช่นกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ทั้งอียูและอินเดียต่างก็เป็นตลาดใหญ่สำหรับแอปเปิลซึ่งทำให้บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ

 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบราซิลมีคำสั่งห้ามแอปเปิลจำหน่าย iPhone หากไม่แถมหัวชาร์จมาพร้อมกับตัวเครื่อง โดยระบุว่าทางบริษัทได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่ไม่สมบูรณ์ให้แก่ผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมบราซิลสั่งปรับบริษัทแอปเปิลเป็นเงิน 12.275 ล้านเรอัล (2.38 ล้านดอลลาร์) หรือราว 87 ล้านบาท พร้อมกับสั่งให้แอปเปิลยกเลิกการจำหน่าย iPhone 12 หรือ iPhone รุ่นที่ใหม่กว่า รวมทั้งห้ามการจำหน่าย iPhone ทุกรุ่นที่ไม่ได้มาพร้อมกับที่ชาร์จแบตเตอรี

 

คำสั่งของกระทรวงยุติธรรมบราซิลระบุว่า "การที่แอปเปิลจำหน่าย iPhone ที่ขาดอุปกรณ์สำคัญถือเป็นพฤติกรรมที่จงใจในการเลือกปฏิบัติต่อผู้บริโภค"

 

นอกจากนี้ กระทรวงฯยังได้ปฏิเสธข้ออ้างของแอปเปิลที่ระบุว่า การที่บริษัทจำหน่าย iPhone ซึ่งไม่มีที่ชาร์จแบตเตอรีมาพร้อมกับตัวเครื่องก็เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกระทรวงฯยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การจำหน่าย iPhone ซึ่งไม่มีที่ชาร์จแบตเตอรีจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

 

ข้อมูลอ้างอิง