หอการค้าไทย-The Creator บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่บนเวที SX2022

07 ต.ค. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2565 | 00:05 น.

หอการค้าไทย และโครงการ The Creator พอแล้วดีสานต่อแนวคิดการทำธุรกิจบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เปิดเวทีเสวนา "ธุรกิจก้าวพอดี" สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืนในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2022

หอการค้าไทย และโครงการ The Creator พอแล้วดีนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ร่วมเปิดแนวคิดการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่โมเดลธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน ในการเสวนา "ธุรกิจก้าวพอดี" ซึ่งจัดขึ้นภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2022

หอการค้าไทย-The Creator บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่บนเวที SX2022


นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี - ลูกโป่ง เจ้าของร้านอาหารจันทรโภชนา จ.จันทบุรี เล่าว่า หลังจากโลดแล่นในวงการโฆษณาที่คิดแต่เรื่องรายได้ กำไร และส่วนแบ่งการตลาดที่ต้องสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจร้านอาหารของครอบครัว ก็พยายามผลักดันให้ธุรกิจเติบโตในวิถีของโฆษณา จนกระทั่งมีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการ The Creator พอแล้วดี จึงทำให้รู้ว่า สิ่งที่ตนเองทำและเวทีที่จะไปไม่ใช้เส้นทางที่ยั่งยืน และมีความเข้าใจถึงการทำให้ชีวิตให้พอดี

 

"ผลจากการศึกษาแนวทางการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำธุรกิจ ทำให้ต้องปรับตัวเองด้วยการรู้จักตัวเอง ประเมินตนเอง แล้วก็นำไปสู่การวางกลยุทธ์ธุรกิจแบบมีเหตุมีผล มีการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน แต่ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอนแรก ลูกโป่งเข้าว่า ความยั่งยืน คือ ความยืนยาว แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจที่อยู่มายาวนาน อาจจะกลายเป็นต้นไม้ที่รากแก้วไม่แข็งแรงก็ได้ ฉะนั้น การทำเรื่องความยั่งยืนต้องมองถึงระบบนิเวศ ทั้งลูกค้า ชุมชน พันธมิตร คู่ค้า ผู้ร่วมทุน และพนักงาน"

 

ด้านนายมนูญ ทนะวัง - นูญ วิศวกรหนุ่มที่หันหลังให้กับงานมั่นคง รายได้งาม ที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันสัญชาติอเมิกัน แล้วกลับไปบ้านเกิดเพื่อบุกเบิกไร่โกโก้ ที่อ. ปัว จ. น่าน เมื่อรู้สึกว่า ตนเองอยากเริ่มต้นทำในสิ่งที่ตัวเองรักด้วยการปลูกโกโก้แบบอินทรีย์ และนำโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโกโก้ผง ช็อกโกแล็ต เมนูอาหารและขนม แล้วเชื่อมโยงไร่โกโก้ไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว 

 

 

นูญ เป็นอีกผลผลิตของโครงการ The Creator พอแล้วดี ที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้อย่างจริงจัง โดยการเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับชุมชน ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้และรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ส่งเสริมให้คนในชุมชนรวมถึงผู้สูงอายุ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต และกิจกรรมต่างๆ โดยมุ่งหวังสร้างรายได้ สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน

นูญ ยังพยายามใช้ทุกส่วนของโกโก้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ร่วมกับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองพัฒนาผ้าย้อมจากเปลือกโกโก้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน และเมนูอาหาร/ขนม เพื่อจำหน่ายในโกโก้คาเฟ่ นำเปลือกโกโก้ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาใช้แทนพลาสติกกันกระแทกสำหรับการจัดส่งสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

"นอกจากได้แนวคิดการทำธุรกิจพอแล้วดี ผมมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน เพราะน้ำคือชีวิต เราต้องมองไปในอนาคต ฉะนั้น เราต้องมีส่วนร่วมในการสร้างป่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ที่สำคัญ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาแทรกซึมในทุกส่วนของธุรกิจ" 



 

นายคำรณ สุทธิ - แก้ว ผู้ก่อตั้งบริษัท Eco Architect จ. ภูเก็ต เล่าถึงการนำแนวคิดความพอประมาณมาใช้ในการออกแบบว่า ตอนจบมาใหม่ ๆ ได้ออกแบบบ้านหลังหนึ่งที่ภูเก็ต แต่ปรากฎว่า เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ไม่ได้ เพราะร้อนอบอ้าวเหมือนเตาอบ จนกลายเป็นปมในใจที่พูดถึงเมื่อไหร่ก็รู้สึกอยากร้องไห้ทุกครั้ง และกลับมาถามตัวเองว่า ใช้เวลาเรียนตั้ง 5 ปี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดีไซน์จริงหรือเปล่า จากนั้น แก้วจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Ecological Architecture หรือนิเวศวิทยสถาปัตย์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนทำให้เข้าใจว่า เราไม่สามารถเอาดีไซน์บ้านแบบตะวันตกที่เรียนจากตำรามาใช้ในสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศของบ้านเราได้ 

แก้วเริ่มทำความเข้าใจและรู้จักตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ว่า ธรรมชาติที่อยู่รอบกายเรามีคุณค่ามาก ขณะที่อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการออกแบบ มีการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากมาย ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากดินให้กลายมาเป็นแอร์ดิน ออกแบบบ้านอย่างไรให้เอาลมมาทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบาย ใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติธรรมชาติ 

"ผมได้แง่คิดจากโครงการพอแล้วดี ว่า ทุกวันนี้ เรากำลังหยิบยืมทรัพยากรของลูกหลานมาใช้ ดังนั้น ผมจึงตั้งปณิธานไว้ว่า ทุกๆ ครั้งที่ผมจะออกแบบ ผมจะไม่ยืมแต่จะสร้าง และจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดในลักษณะของ Passive Design (การออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม) เราจึงเรียกบ้านทุกหลังที่ออกแบบว่า บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ"

 

นภัส ว่องกุศลกิจ ผู้ก่อตั้ง Kebbio แบรนด์ผลิตภัณฑ์นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ อีกหนึ่งโปรตีนทางเลือกเพื่อความยั่งยืน และผู้ประกอบการุร่นใหม่ในโครงการ YEC หอการค้าไทย ( Young Entrepreneur Chamber of Commerce) กล่าวว่า ขณะนี้ ทุกคนอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมากมายที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น เราควรลงมือปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในตอนนี้ หนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ การตระหนักเรื่องการเลือกอาหารการกิน โดยเน้นอาหารที่มีประสิทธิภาพ เช่น พืชมีพลังงานสูง เพราะได้รับโดยตรงจากแสงอาทิตย์ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ เพราะฉนั้น เราควรจะเลือกรับประทานสิ่งที่อยู่ต้นๆ ของ food chain ซึ่งก็คือ ผักและผลไม้ หรือ plant-based food มากขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ระยะทางอาหาร (Food Miles) ซึ่่งหมายถึงระยะทางที่อาหารถูกขนส่งจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภคที่มาถึงจานของผู้บริโภค ถ้าเราเลือกแบรนด์ที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตรภายในประเทศก็จะช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ได้

"สิ่งง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ก็คือ สนับสนุนเกษตรกรไทย สนับสนุนแบรนด์ที่เลือกใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ มีซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่โปร่งใส และใช้ระยะทางการขนส่งสั้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความอยู่รอดด้วยการพึ่งพาตัวเอง แม้ในภาวะวิกฤตซัพพลายเชนของโลก หรือเศรษฐกิจแปรปรวน เราสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในประเทศและรอดไปด้วยกันได้"

 

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ย้ำว่า หอการค้าไทยไม่ได้เชื่อเพราะว่า รักพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่เชื่อเพราะหลักการที่พระองค์ทรงสอนเป็นแก่นแท้ของการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

 

"หอการค้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ กรุงเทพมหานครไม่ใช่ประเทศไทย ทุกพื้นที่มีความสำคัญเหมือนกัน วันนี้เป็นเวทีของคนรุ่นใหม่ ถ้าเราสามารถส่งต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้คนเหล่านี้ไปทำให้ทุกธุรกิจเติบโตด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ จะเป็นรากฐานที่มั่นคงของระบบเศรษฐกิจประเทศได้"

ขณะที่ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ The Creator พอแล้วดี กล่าวว่า คนที่ไม่รู้จักพอ ก็คงไม่รู้จักให้ เพราะฉะนั้น จะลุกขึ้นมาสร้างความยั่งยืนก็ต้องเริ่มจากคำว่า "พอ" ก่อน 

เวลาพูดเรื่องความยั่งยืน มักเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าเป็นเรื่อง 3P คือ People, Profit, Planet หรือเก้าอี้ 3 ขาของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งที่คนพูดกันมากที่สุด คือ Profit ส่วนการทำเพื่อสั่งคมก็มีการพัฒนากลยุทธ์จากซีเอสอาร์ มาเป็นการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) Marketing 4.0, SDGs (Sustainable Development Goals) หรือ ESG (Environment, Social, Governance) แต่การจะก้าวจาก Profit ไปสู่ Planet ได้นั้น People สำคัญที่สุด โดยเฉพาะผู้นำองค์กร และคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่เข้าใจความสำคัญของคำว่า Social Value และ Social Capital ก็ไม่มีวันจะก้าวผ่านไปได้ 

 

"โครงการพอแล้วดี ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการที่จะนำพาสังคมไปสู่ความพอเพียงที่ทุกคนมีไม่เท่ากัน แต่ทุกคนควรมีพอที่จะเติบโตต่อไป สิ่งที่เรามีพันธกิจร่วมกันคือ จดจำตลอดกาลทำตามตลอดไป"