zero-carbon

ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนาสู่ชุมชน กับ “ชุมชนกุฎีจีน”

    SX 2022 เปิดเวที ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของ "ชุมชนกุฎีจีน" แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร

"ชุมชนกุฎีจีน" ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ที่ติดโผ “ห้ามพลาด” สำหรับนักท่องเที่ยว ที่สนใจวิถีชุมชนเก่า ย่านฝั่งธนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและศาสนา 

ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนาสู่ชุมชน กับ “ชุมชนกุฎีจีน”

ด้วยเสน่ห์ของวิถีความเป็นอยู่แบบชุมชนไทยดั้งเดิม อาคารเก่าที่มีเรื่องเล่ามากมาย บรรยากาศผ่อนคลายพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ และความกลมกลืนระหว่างคนต่างวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน  ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือเบื้องหลังและจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของชุมชนเก่าแก่นี้เกิดจาก “ความแตกต่างทางศาสนา”

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เล่าในเวที “ศาสนากับความยั่งยืนของชุมชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2022 ว่าความยั่งยืนในความหมายแรกเริ่มนั้นหมายถึงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะถือว่าเรากำลังหยิบยืมทรัพยากรของรุ่นลูกรุ่นหลานมาใช้ จึงต้องใช้อย่างรอบคอบไม่สิ้นเปลือง ต่อมาในภายหลังองค์การสหประชาชาติได้ขยายความหมายของคำว่ายั่งยืนให้ครอบคลุมมากขึ้นจนกลายมาเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อ

ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนาสู่ชุมชน กับ “ชุมชนกุฎีจีน”

องค์กรทางศาสนาต่าง ๆ เอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเช่นกัน และมีการประชุมผู้นำศาสนาทั่วโลกที่กรุงวาติกันเมื่อปี 2562 และเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับในประเทศไทยนั้นศาสนามีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมาก

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการพัฒนาของชุมชนกุฎีจีน ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่ตรงตามโจทย์ความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพราะส่งเสริมการพัฒนาได้ทั้ง 3 มิติหลักของความยั่งยืน นั่นคือ ด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาทั้ง 3 มิตินี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย

 

ผู้นำทั้ง 6 ชุมชนจาก 3 ศาสนา ได้แก่ ชุมชนวัดกัลยาณมิตร ชุมชนวัดประยูรวงศาวาส ชุมชนวัดบุปผาราม  ชุมชนมัสยิดกุฎีขาว ชุมชนมัสยิดกูวดิลอิสลามหรือมัสยิดแดง และชุมชนกุฎีจีนหรือโบสถ์ซางตาครู้ส ทั้งภาครัฐ ประชาชนในพื้นที่ วัด และภาคเอกชน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็น และร่วมกันพัฒนาชุมชนแห่งนี้จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์

 

“พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการทำประโยชน์ ที่เรียกว่า โลกัตถจริยา ซึ่งการทำประโยชน์แก่ญาติ การทำประโยชน์แก่โลกนั้น เราไม่เลือกศาสนา ถ้าจะย้อนดูไปจริง ๆ ต้นตระกูลของตระกูลบุนนาค ที่เป็นผู้สร้างวัดประยูรวงศาวาสก็เป็นมุสลิม เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในช่วงปลายอยุธยานี่เอง” พระพรหมบัณฑิตกล่าว

 

นอกจากการร่วมกันพัฒนาชุมชนให้มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนกุฎีจีนยังมีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ลอยกระทง ที่คนทุกศาสนา ความเชื่อ สามารถมาร่วมงานได้ และรายได้จากการขายของหรือทำกิจกรรมในงานนี้ก็นำกลับคืนเข้ามาพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเส้นทางเลียบแม่น้ำไปยังวัดกัลยาณมิตรและมีโครงการอื่น ๆ ในแผนการพัฒนาตามมาอย่างต่อเนื่อง

 

มงซินญอร์ ดร. วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวง โรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามคำสอนของศาสนาคริสต์นั้น “ทุกคนเป็นลูกของพระเจ้า เราทุกคนคือพี่น้องกัน สำหรับเราไม่มีใครเป็นคนแปลกหน้า” 

ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนาสู่ชุมชน กับ “ชุมชนกุฎีจีน”

ชาวคริสต์ในชุมชนกุฎีจีนจึงมีความใกล้ชิดกันมาก รู้จักกันทุกครอบครัวถึงขนาดว่าบ้านไหนเลี้ยงแมวหมากี่ตัวก็จำได้หมด เรียกชื่อได้ถูก การชักชวนให้ชาวคริสต์มาร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนและคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกันจึงไม่เป็นเรื่องยาก

 

จากการยึดตามหลักคำสอนของศาสนา ผู้นำชุมชนคริสต์ในย่านกุฎีจีนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ลงพื้นที่ เข้าถึงทุกบ้าน ทุกครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์รวมถึงเพื่อนบ้านศาสนาอื่น ชักชวนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาให้ช่วยกันพัฒนาชุมชน เช่น การทำความสะอาดครั้งใหญ่ในโอกาสต่าง ๆ และเข้าร่วมทุกกิจกรรมของชุมชน

 

ฮัจยี อุมัร กาญจนกุล ผู้นำศาสนาอิสลามของชุมชนมุสลิมย่านกะดีจีน-คลองสาน ให้ความกระจ่างว่า ที่จริงแล้วคำว่าอิสลามแปลว่าสันติ ศาสนาอิสลามจึงเป็นศาสนาที่มุ่งเน้นสันติ อิสรภาพ และภราดรภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ชาวมุสลิมอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านต่างศาสนาในชุมชนได้อย่างราบรื่นตลอดมา

 

“ดุลยภาพคือสิ่งสำคัญ ความรัก ปรองดอง แบ่งปันซึ่งกันและกันทำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน” ฮัจยีอุมัรกล่าว

ถอดรหัสความยั่งยืนทางศาสนาสู่ชุมชน กับ “ชุมชนกุฎีจีน”

พระพรหมบัณฑิตกล่าวสรุปว่า การเข้าถึงแก่นของศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา “สิ่งใดขาดก็ต้องเติมให้เต็ม เมื่อเติมให้เต็มแล้วก็จะเกิดความเพียงพอ เมื่อเพียงพอแล้วก็ต้องแบ่งปัน และเมื่อแบ่งปันก็ต้องแบ่งปันอย่างเป็นธรรม สังคมจึงจะมีความสุขและก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน”