สังคมผู้สูงอายุ-โควิด-19 ดันธุรกิจบริการสุขภาพ-ความงามฟื้นตัว

30 ก.ย. 2565 | 09:17 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 16:23 น.

 สังคมผู้สูงอายุ-โควิด-19 ดันธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามฟื้นตัว 8 เดือนยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 353 ราย เพิ่มขึ้น 90% เฉพาะเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น กว่า 211% ชี้ ปี2583 ไทยจะมีผู้สูงอายุแตะ 20.5 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าปัจจุบันไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่า ปี 2583 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองและต้องการบริการด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น อีกทั้ง โควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

 

สังคมผู้สูงอายุ-โควิด-19  ดันธุรกิจบริการสุขภาพ-ความงามฟื้นตัว

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา โดย 8 เดือนแรก (มกราคม - สิงหาคม)  มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือ  90%เฉพาะเดือนสิงหาคม มียอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 38 ราย หรือ211.12 %

ทั้งนีธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 สิงหาคม มีจำนวน1,621 ราย คิดเป็น 0.19% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 7,511.48 ล้านบาทของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 836 ราย รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ

สังคมผู้สูงอายุ-โควิด-19  ดันธุรกิจบริการสุขภาพ-ความงามฟื้นตัว

“ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจฯ นักลงทุนไทยยังครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 7,286.32 ล้านบาท  รองลงมา คือ จีน ทุน 80.92 ล้านบาท ฮ่องกง ทุน 38.69 ล้านบาท อิตาเลียน ทุน 34.00 ล้านบาท   ซึ่งภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจฯ รายได้เฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้รวมปี 2562 จำนวน 16,085.25 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 14,316.74 ล้านบาท (ลดลง 11% ) และปี 2564 จำนวน 15,153.89 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น5.85%) ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2565 มูลค่าตลาดของธุรกิจฯ ทั่วโลก จะสูงถึง 206 ล้านล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรจำนวน 66,171,439 คน จำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 - 150 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 12,241,542 คน หรือ 18.50% แบ่งเป็นเพศชาย 5,424,781 คน เพศหญิง 6,816,761 คน กรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด 1,171,900 คน รองลงมา คือ นครราชสีมา 495,452 คน เชียงใหม่ 379,118 คน ขอนแก่น 340,855 คน และ อุบลราชธานี 303,720 คน