หอการค้าอีสานกังขา ยก 3 สนามบินให้ AOT บริหาร

14 ก.ย. 2565 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2565 | 18:47 น.
571

หอการค้าอีสานกังขา ยก 3 สนามบินทย.ให้ AOT บริหาร มองว่าเป็นการร่วมกันเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ขณะที่เอกชนท่องเที่ยวกระบี่-บุรีรัมย์ ตีปีกอ้าแขนรับทอท. มั่นใจสร้างโอกาสขยายเน็ตเวิร์คจากต่างประเทศเข้ากระบี่ หนุนบุรีรัมย์ปรับเปลี่ยนเป็นสนามบินนานาชาติในปีหน้า

หลังจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ทอท. หรือ AOT  เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ภายใต้ระยะเวลา 30 ปี ได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนในกระบี่และบุรีรัมย์ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุดรธานี ยังกังขาต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

 

นายสวาท ธีระรัตน์นุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน) กล่าวว่าการมอบสิทธิ์การบริหาร 3 สนามบินของทย. ไม่ได้เป็นการฮุบกิจการ แต่ไม่มีการประมูลแข่งขันกัน ทำให้มองได้ว่าคือการร่วมกันเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ซึ่งไม่น่าที่จะถูกตามหลักการและขั้นตอน อาจจะผิดกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดินด้วย

 

ส่วนกรณีที่อ้างเป็นเรื่องเงินงบประมาณการลงทุนที่รัฐสามารถประหยัด เอกชนจัดหาเอง เห็นด้วยเพียงส่วนหนึ่ง เพราะสนามบินอุดรธานีและสนามบินกระบี่ เป็นสนามบินที่มีผลตอบแทนสูงที่สุดของประเทศ ใครลงทุนไปก็มีความคุ้มค่าและสามารถให้ผลตอบแทนในเวลาที่รวดเร็ว เพราะเป็นสนามบินที่ทำกำไรได้ดี

 

หอการค้าอีสานกังขา ยก 3 สนามบินให้ AOT บริหาร

 

สนามบินอุดรธานีเป็นสนามบินที่มีความเจริญเติบโตและมีศักยภาพในตัวของสนามบินเอง มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตปลายปีนี้หากประเทศจีนอาจจะประกาศเปิดประเทศอนุญาตให้คนจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับมีรถไฟจีน-ลาว เดินขบวนรถโดยสารระหว่างคุนหมิง-เวียงจันทน์ ทุกวัน เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญในการเดินทาง จะทำให้ในภูมิภาคส่วนนี้มีความคึกคักในด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว การลงทุนของคนจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ยิ่งจะมีมากขึ้น จะทำให้สนามบินอุดรธานีมีโอกาสด้านต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการขนส่งสินค้าทางราง

ภาคเอกชน ในจังหวัดอุดรธานี ในรูปของ กกร. และ กรอ. ได้เคยนำเสนอการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี อย่างรูปแบบ ต่อที่ประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองคาย เพื่อให้กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบประมาณมาทำการเร่งพัฒนาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อเตรียมรองรับความเปลี่ยนแปลง

 

แต่ก็ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันนี้ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ของท่าอากาศยานก็ยังไม่ลงตัวว่าจะมีการก่อสร้างหรือไม่ และปี พ.ศ.ไหนจึงจะสามารถลงมือก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างอาคารหลังที่ 3 จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรีบตัดสินใจว่ารัฐจะทำเอง หรือให้เอกชนเข้าบริหาร สำคัญที่สุดต้อง เข้ามาฟังในพื้นที่ด้วย

 

นางสาวศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการให้ทอท.เข้ามาดูแลและบริหารจัดการของสนามบินกระบี่แทนทย.ถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด เพราะจะทำให้สนามบินกระบี่ มีการให้บริการที่ดีขึ้น
 

หอการค้าอีสานกังขา ยก 3 สนามบินให้ AOT บริหาร

 

เนื่องจากที่ผ่านมาสนามบินกระบี่ซึ่งบริหารโดยทย. ต้องยอมรับว่าด้วยระเบียบราชการ ทำให้การอนุมัติหรือตัดสินใจในการให้บริการของสนามบิน รวมไปถึงการปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ ภายในสนามบินค่อนข้างล่าช้า

 

แต่การดึงทอท.ซึ่งเป็นมืออาชีพด้านนี้โดยตรงเข้ามาบริหารสนามบินกระบี่ก็จะเกิดความคล่องตัว การตัดสินใจที่รวดเร็วกว่า รวมถึงการลงทุนต่างๆของทอท.ที่จะเข้ามาพัฒนาสนามบินต่อ ก็จะทำให้สนามบินกระบี่ มีมาตรฐานการให้บริการเหมือนที่ทอท.บริหารอยู่ที่สนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิ และภูเก็ต รวมถึงทำให้การบริหารจัดการร้านค้าต่างๆ ภายในสนามบิน สามารถดึงดูดผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้เอกชนยังมองว่าจะเอื้อทำให้เกิดการดึงเน็ตเวิร์คจากต่างประเทศบินตรงเข้ามายังสนามบินกระบี่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง อย่าง ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่ สตูล ไม่ใช่แค่เพียงรอนักท่องเที่ยวต่างชาติบินมาลงกรุงเทพฯหรือภูเก็ต แล้วเดินทางต่อมาเที่ยวกระบี่เป็นหลักเท่านั้น

 

เพราะปัจจุบันสนามบินกระบี่เส้นทางบินตรงจากต่างประเทศมีเฉพาะเที่ยวบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ให้บริการจากสิงคโปร์ รวมถึงมาเลเซีย บินตรงเข้ากระบี่ และก็ไม่ได้มีทุกวัน และแม้แต่อินเดียที่เป็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากระบี่เป็นอันดับ2 รองจากสิงคโปร์ แต่ก็ยังไม่มีเที่ยวบินตรงจากอินเดียเลย

 

ส่วนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสนามบินกระบี่ที่จะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมองว่า ถ้าแลกกับการอำนวยความสะดวก การบริการของสนามบินที่ดีขึ้น การมีเที่ยวบินตรงที่เพิ่มขึ้นยกระดับกระบี่ให้เป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ก็น่าจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งการพิจารณาเราจะดูแต่เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้นไม่ได้ ต้องมองเรื่องของความคุ้มค่า ที่เป็นจุดสมดุลเป็นสำคัญด้วย

 

นายบดินทร์ เรืองสุขศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่า เอกชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการที่ทอท.จะเข้ามาบริหารจัดการสนามบินบุรีรัมย์ เพราะในปีหน้าสนามบินแห่งนี้จะยกระดับสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ การบริหารจัดการในรูปแบบของรัฐจึงไม่เหมาะหากเทียบกับการให้ทอท.ซึ่งเป็นเอกชนเข้ามาบริหารที่จะมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสนามบินที่สูงกว่า

 

หอการค้าอีสานกังขา ยก 3 สนามบินให้ AOT บริหาร


สิ่งที่เอกชนคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสนามบินบุรีรัมย์หลังทอท.เข้ามาบริหาร คือ การพัฒนาสนามบินให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพสอดรับกับสนามบินที่จะเปลี่ยนไปเป็นสนามบินนานาชาติในปีหน้า การจัดรูปแบบร้านค้าภายในสนามบิน ให้มีความทันสมัย สวยงาม