ถอดสูตร ทอท.ฮุบ 3 สนามบินทย.อุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์

05 ก.ย. 2565 | 12:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 20:02 น.
558

ทอท.ยึด 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้สำเร็จ หลังครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล บริหารจัดการ 3 สนามบินของทย. "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ถอดรหัสทำไมจึงกลายเป็นโมเดลนี้แทนการโอนสนามบิน

ในที่สุดบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.หรือ AOT ก็สามารถยึด 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้สำเร็จ หลังครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ แทน ทย.

โมเดลหรือแนวทาง “การมอบความรับผิดชอบในการดูแลและบริหารสนามบิน” ที่เกิดขึ้น ถือว่าลงล็อกที่ทอท.จะ สามารถเข้าไปฮุบทั้ง 3 สนามบินนี้ได้ จากทั้งหมด 4 แนวทางที่มีการศึกษาไว้ (ตารางประกอบ) โดยไม่ผิดกม.เพราะไม่ได้โอนส่วนราชการหรือกิจการของรัฐไปให้ทอท. เพียงแต่ใช่ช่องทางการนำเสนอครม.เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของทย.ไปให้ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบในการ ดูแลและบริหารจัดการแทน

 

ถอดสูตร ทอท.ฮุบ 3 สนามบินทย.อุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์

 

ขณะที่อีก 3 แนวทางล้วนมีปัญหา อุปสรรคของข้อกม.และกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแนวทาง “การโอนสนามบิน” ที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัจจุบันทอท.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และยกเลิกกม.ว่าด้วย การท่าอากาศยานแห่งประเทศ ไทยแล้ว การโอนสนามบินของ ทย. มาหาให้ ทอท. เหมือนในอดีตที่มีการโอนสนามบินภูเก็ต, สนามบินหาดใหญ่, สนามบินเชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จึงไม่สามารถอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การท่าอากาศ ยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ได้อีกต่อไป

ส่วนแนวทาง “การจ้างบริหารสนามบิน” ก็มีประเด็นเกี่ยวพันกับข้อกม. 4 เรื่อง ได้ แก่ ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ, ผู้รับผิดชอบกรณีมีเหตุการณ์ต่างๆ, การกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ และการนำเงินเข้าทุนหมุนเวียนของทย. ที่ก็ถกกันไม่จบ

 

รวมถึงแนวทาง “การเช่าบริหารสนามบิน” ทย.ไม่สามารถจัดทำสัญญาให้ทอท.เช่าบริหารสนามบินได้ เนื่องจากตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 86/2564 สั่ง ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 ที่มอบอำนาจให้ทย.ดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุในพื้นที่สนามบินภูมิภาค เป็นการมอบอำนาจสำหรับกรณีการหาประโยชน์ในลักษณะร้านค้าต่างๆ ภายในสนามบินที่มีราคาที่ราชพัสดุไม่เกิน 500 ล้านบาท และเป็นการเช่าชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งไม่รวมถึงการให้เช่าบริหารสนามบิน

 

นี่เองจึงทำให้แนวทาง “การมอบความรับผิดชอบในการดูแลและบริหารสนามบิน” จึงเป็นทางออกที่เกิดขึ้น ส่วนแนวทางต่อจากนี้จะต้องมีการดำเนินการใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่

 

1. การเปลี่ยนผู้ใช้ประโยชน์ ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสนามบินจากทย.เป็นทอท. โดยที่สนามบินอุดรธานี ตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 2 แปลง ที่อยู่ในการครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ของทย.และกองทัพอากาศ ทอท.ก็จะเช่าที่ราชพัสดุต่อกรมธนารักษ์ สนามบุรีรัมย์ ซึ่งในส่วนที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทย.จะให้ความยินยอมให้ทอท.ไปขออนุญาตกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่

 

ส่วนพื้นที่อาคารราชพัสดุ ทอท.จะเช่าอาคารต่อกรมธนารักษ์สนามบินกระบี่ ก็มีพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติและที่ราชพัสดุเช่นกัน ทอท.ก็จะต้องดำเนินการเช่าและขอใช้พื้นที่ภายใต้การยินยอมของทย.เช่นกัน

 

2. ครุภัณฑ์ในสนามบิน  กรณีทย.ต้องการนำไปใช้ ทย. สามารถนำไปใช้ที่สนามบินอื่นได้ แต่ถ้าไม่ใช้ ก็จะโอนหรือขายโดยวิธีเฉพาะเจาะจงให้ทอท.ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.จัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

 

3. เกี่ยวกับบุคลากร ทอท.จะพิจารณารับข้าราชการของทย.พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างทุนหมุน เวียนของ 3 สนามบินนี้ สามารถสมัครใจมาทำงานกับทอท.ได้โดยไม่ทำให้สิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนลดลง ส่วนข้าราชการของทย.ที่ไม่สมัครใจทำงานกับทอท. ทย.ก็จะพิจารณาจัดภารกิจและตำแหน่งงานให้ตามความเหมาะสม

 

4. การขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ทย.จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับรองแล้วจึงโอนสิทธิใบรับรองให้ทอท.

     

5. เกี่ยวกับงบประมาณ ทย.จะได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผูกพันไว้แล้วสำหรับการพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง จำนวน 14 โครงการให้แล้วเสร็จทุกรายการ ซึ่งการพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่งนี้ ในส่วนงบผูกพันของรัฐในการขยายสนามบินที่ทย.ที่ดำเนินอยู่ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผูกพันไว้แล้ว ราว 6,020.25 ล้านบาท ก็จะพัฒนาไปตามแผนเดิม ที่จะแล้วเสร็จในปี 67 จากนั้นทอท.ก็มีแผนจะลงทุนเองอีกราว 9,199.90 ล้านบาทหรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)

 

ในการพัฒนา 3 สนามบินนี้ภายใต้เป้าหมายการยกระดับสนามบินอุดรธานีจากสนามบินระดับภาค (ริจินัลแอร์พอร์ต)เป็นสนามบินศูนย์ กลางรอง (Secondary Hub) สนามบินบุรีรัมย์ จากสนามบินระดับจังหวัด (Local Airport) เป็นสนามบินระดับภาค (ริจินัล แอร์พอร์ต) สนามบินกระบี่เป็นสนามบินศูนย์กลางรอง (Secondary Hub) นั่นเอง