Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง

28 ส.ค. 2565 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 19:42 น.
3.2 k

จับตาเทรนด์อาหารหลังโควิด เมื่อพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยน โหยหาอาหารเพื่อสุขภาพ แนะกลุ่มผู้ประกอบการทั้งมังสวิรัต Vegan และ Plant Based ใช้โอกาสแจ้งเกิด ต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Gastronomy Tourism

ต้องยอมรับว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดีในช่วงโควิดที่ผ่านมาแต่ความคาดหวังในอาหารของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากที่เคยคาดหวังในรสชาติ ปัจจุบันผู้คนต่างคาดหวังทั้งรสชาติและฟังก์ชั่นต่อสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องปรับทัพกันยกใหญ่ โดยคาดว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพจะมีการเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 39.6 ล้านล้านบาท

 

นางสาวพิมพ์วดี อากิลา นักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มบริษัท มินเทล (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการวิจัยของ Mintel Global Consumer เกี่ยวกับผู้บริโภคแบบองค์รวม พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยเกือบครึ่งหรือกว่า 45% ต่างกังวลว่าจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนที่จะมีโรคระบาด ในช่วงโควิดที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับสถานการณ์การล็อกดาวน์ ช่วงที่ต้องกักตุนอาหาร หรือการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสถานที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน

Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง               

ที่สำคัญทำให้ “อาหาร” กลายเป็นสิ่งที่มากกว่าการยังชีพ แต่ยังเป็นเหมือนแหล่งสร้างกำลังใจ ช่วยให้ผู้คนมีพลังในการก้าวเดินต่อไปได้อีกด้วย ในปีนี้ Mintel คาดว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกที่สำคัญเช่น ผู้บริโภคต้องการความรู้สึกอิสระในชีวิต แบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม และบริการด้านอาหารจึงจำเป็นต้องช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างมั่นใจเพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเองและสุขภาพของโลก

                

หลังจากผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์แล้ว ผู้บริโภคต่างกระตือรือร้นที่จะออกไปข้างนอก เพื่อสำรวจ เล่น และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ที่จะเพิ่มรสชาติ สี รสสัมผัส กลิ่น และปฏิสัมพันธ์จากอาหารและเครื่องดื่ม และ จะเริ่มเห็นผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร และแบรนด์ต่างๆ จะใช้สถานที่ของตัวเองหรือสถานที่อเนกประสงค์ให้บริการด้านอาหาร เครื่องดื่ม และอย่างสร้างสรรค์ เป็นเวทีให้ผู้บริโภคสามารถใช้เวลา แสดงออก และพบปะผู้คนใหม่ๆมากขึ้น

Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง               

“จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่เพียงคำตอบเดียวว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ แต่การทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกอย่างไร และการเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นความเข้าใจที่นำไปใช้ได้จริง จะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ของตนให้เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของตลาดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น”

              

นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่งหรือ 58% รับประทานอาหารทั้งจากพืชและสัตว์แบบยืดหยุ่น ขณะที่ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีเพียง 3% และ วีแกน 1% นับว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล็ก แต่จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดีมากขึ้น ทำให้อาหารจากพืชมีความสำคัญเพิ่มขึ้น

Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง

และคาดว่าเทรนด์ดังกล่าวจะดำเนินต่อไป เพราะผู้บริโภคชาวไทยเริ่มให้ความสนใจกับแหล่งโปรตีนจากพืชที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียล 47% และกลุ่มกินอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือกึ่งมังสวิรัติ 87% ที่มีแนวโน้มว่าจะสนใจบริโภคอาหารทางเลือกจากพืชมากขึ้น

 

ด้านนางสาวไอริณ ทวีเกื้อกูลกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท เทสท์อิ้งค์ เอเชีย จำกัดและโครงการ Thai Taste Therapy กล่าวว่า จากโควิดที่ผ่านมาผู้บริโภคเริ่มมองอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันมากขึ้นทำให้เทรนด์การบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น

 

1. Food Healthy ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์และเลือกอาหารที่จะรับประทานด้วยตัวเอง รวมทั้งเลือกอาหารและอาหารเสริมที่จะเพิ่มเสริมภูมิต้านทานให้กับตัวเรา

Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง

2. นิวทริไลท์ ผู้บริโภคเองเริ่มที่จะคัดเลือกของที่จะรับประทานโดยไม่ได้มองแค่ความอร่อย แต่จะมองไปที่กินแล้วได้อะไร และเหมาะกับตัวเองและคนที่รักแทน

 

3. เรื่องของ alternative,Vegan รวมถึง plant based แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างกะทันหันในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นขณะที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

              

“เทรนด์ถัดมาจะเป็นเรื่องของ Gastronomy Tourism ซึ่งจริงๆแล้วนักท่องเที่ยวประมาณ 53% ก่อนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจะทำการบ้านมาก่อนว่ามาแล้วจะกินอะไร แต่ 3 ปีที่ผ่านมาเกิดโควิดผู้คนเริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้นไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลก เพราะฉะนั้นในเรื่องของการท่องเที่ยวมันจะเกิดการผสมผสานเข้ากับ Wellness Tourism นั่นหมายความว่าในเส้นทางท่องเที่ยวนั้นนอกจากจะไปกินอะไรแล้วฉันจะได้อะไรในเรื่องของสุขภาพด้วย ดังนั้นใน 3 ปีที่ผ่านมา Gastronomy Tourismจะเน้นในเรื่องของการกินและบวกเรื่องของ Wellness เข้าไปด้วยนี่คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่

Post-COVID ปลุกเทรนด์ อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพแรง               

และเทรนด์สุดท้าย คือ การกินอาหารเป็นยา ซึ่งเราเองได้ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและพันธมิตรหลายๆองค์กร ในการทำอาหารไทยเป็นยา ซึ่งเราพยายามที่จะช่วยกันผลักดันให้เป็น Soft Power ออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ เราโชคดีมากที่เมืองไทยของเรามีวัตถุดิบที่หลากหลายและมีสรรพคุณทางยาจำนวนมาก

              

จากความคาดหวังในอาหารที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอาหารในไทยต่างตื่นตัวและปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์เหล่านี้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นบิ๊กเนมอย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ให้น้ำหนักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทย รับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ครอบคลุมทั้งความยั่งยืนของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

โดยซีพีเอฟ เน้นใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมอาหารที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน

              

ขณะที่เบทาโกร เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกภายใต้แบรนด์ “Meatly!” แพลนต์เบสโปรตีนพรีเมียม เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Flexitarian และคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ แต่ยังไม่ทิ้งรสชาติความอร่อยและยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต (Food Security)

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565