“การบินไทย” เร่งปรับปรุงเครื่องบิน 5 ลำ รับไฮซีซั่น

10 ก.ค. 2565 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 22:10 น.
647

“การบินไทย” เดินหน้าปรับปรุงเครื่องบิน 5 ลำ ต้อนรับไฮซีซั่น เพิ่มความถี่เส้นทางเอเชีย เผยยอดจองล่วงหน้าพุ่ง 60% หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์ คาดโกยรายได้ปี65 ราว 8 หมื่นล้านบาท

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินตอนนี้ฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของการบินไทยก็มีปริมาณผู้โดยสารเติบโตสอดคล้องด้วย โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่พบว่ามีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) สูงถึง 90% ส่งผลให้ภาพรวมเคบิ้นแฟกเตอร์สูงอยู่ที่ 70-80% ขณะที่ยอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ในเดือน ก.ค.นี้ สูงถึง 60% แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง หลังจากที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565

 

 

 

สำหรับแนวโน้มฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ที่จะเริ่มต้นในเดือน ต.ค.นี้ การบินไทยประเมินว่าจะมีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นการฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี และคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ จะปิดตัวเลขอยู่ที่ 4.48 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 9.18 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.29 แสนล้านบาท 
 

ทั้งนี้จากแนวโน้มการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร การบินไทยได้ปรับแผนนำเครื่องบินที่ตามแผนจะปลดระวาง นำมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้บริการเสริมฝูงบินรองรับไฮซีซั่นนี้ จำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอ330 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 777-200 จำนวน 2 ลำ โดยจะนำไปให้บริการในเส้นทางที่ทำกำไรและมีความต้องการสูง อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่การบินไทยอยู่ระหว่างขอเพิ่มความถี่เที่ยวบิน 

 

 

ที่ผ่านมาการบินไทยได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินที่ให้บริการเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเติบโตด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นมา โดยในช่วงวันที่ 1 - 27 มิ.ย. 2565 จำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันของบริษัทและสายการบินไทยสมายล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,568 และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 และ 4,929 คนต่อวันในช่วงเดือนเม.ย. - ต.ค. 2564 เคบิ้นแฟกเตอร์ในส่วนของการบินไทยช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 75% และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 
 

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 การบินไทยได้เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทาง ได้แก่ เดลี มุมไบ เจนไน เบงกาลูรู ละฮอร์ การาจี อิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ เมลเบิร์น ลอนดอน จาการ์ตา ธากา แฟรงก์เฟิร์ต ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก เป็นต้น และช่วงไตรมาสที่ 3 มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ได้แก่ จาการ์ตา ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก โซล 

 

 

อย่างไรก็ตามได้เปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางหลักไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โตเกียว (สนามบินฮาเนดะ) บรัสเซลส์ เจดดาห์ ขณะที่รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำขนส่งสินค้ารวมในเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีจำนวน 2,104 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 41%