‘โอซีซี กรุ๊ป’ ส่งทัพแบรนด์ Wella เจาะตลาดซาลอนไทย

10 ก.ค. 2565 | 05:30 น.

เครือสหพัฒน์ ปลุกตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผม ส่ง “โอซีซี กรุ๊ป” นั่งตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ “Wella Professionals” หวังรีเทิร์นตลาดเมืองไทย นำร่องส่ง 4 แบรนด์ เจาะร้านซาลอนพรีเมียมทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย เติบโตก้าวกระโดด 50% ดันรายได้แตะ 100 ล้านบาทในปี 66

นางธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า โอซีซี กรุ๊ป มองเห็นโอกาสในการเพิ่มไลน์ธุรกิจความงามต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สีผมและดูแลเส้นผม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถโชว์ความสวยงามได้ ถึงแม้จะใส่หน้ากากอนามัย โดยบริษัททุ่มงบกว่า 130 ล้านบาท ดึงแบรนด์ Wella Professionals ผลิตภัณฑ์ทำสีและดูแลเส้นผมจากเยอรมัน ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกยาวนานกว่า 140 ปี มาเสริมทัพธุรกิจความงามของโอซีซี

              

ด้านนายวรเทพ อัศวเกษม กรรมการ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม หลังจากสถานการณ์โควิด-19 กำลังซื้อต่าง ๆ ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นตามลำดับ โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมกลับมาคึกคัก คือ เทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวและการแต่งหน้าทำผมใหม่ๆ จากต่างประเทศ ทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี มีผลทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านทำผมมากขึ้นและซื้อผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์กลับไปใช้ที่บ้าน

‘โอซีซี กรุ๊ป’ ส่งทัพแบรนด์ Wella เจาะตลาดซาลอนไทย               

ทั้งนี้รายงานจาก Kantar พบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 และผลิตภัณฑ์พรีเมียมสำหรับดูแลปัญหาผมร่วงและรังแคเติบโตเร็วกว่าตลาดแชมพูโดยรวมถึง 5 เท่า โดยเติบโต 10% ในปี 2564

 

ปัจจุบันโอซีซี กรุ๊ป มีผลิตภัณฑ์ในพอร์ตมากกว่า 10 แบรนด์ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ เสื้อผ้า, เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผม ซึ่งเป็นมัลติแบรนด์ ประกอบไปด้วย 4 แบรนด์ได้แก่ เดมี่, Dex จากญี่ปุ่นเจาะกลุ่ม B2B, BSC เจาะตลาดกลุ่ม B2CและB2B และน้องใหม่ Wella เจาะตลาด B2B โดยที่ผ่านมากลุ่มเส้นผมของโอซีซี กรุ๊ป มีรายได้ราว 300 ล้านบาท การที่มี Wella เข้ามาบริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ดังนั้นรายได้ครึ่งปีจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท และในปีที่ 2 ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท

              

“หลังจากที่ตัวแทนจัดจำหน่ายเดิมเลิกทำเมื่อ 2 ปีก่อน และระหว่างที่ยังหาตัวแทนจำหน่ายใหม่ไม่ได้ Wella Thailand ก็ต้องทำตลาดเองไปก่อน ซึ่งไม่มีทีมที่ทำอย่างจริงจังเพราะฉะนั้นสถานะของ Wella Thailand ณ ตอนนี้ถือว่ายังไม่ค่อยแข็งแรง และ Wella เองไม่มีนโยบายที่จะบริหารเองเพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องหาผู้จัดจำหน่ายใหม่ เมื่อโอนมาให้ โอซีซี กรุ๊ป ดูแลจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสร้างทีมขึ้นมาทำให้แบรนด์แข็งแรงมากขึ้น”

              

สำหรับแผนการทำตลาดในเฟสแรกบริษัทจะเริ่มทำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีผมก่อน โดยจะนำ 4 แบรนด์เข้ามาทำตลาดได้แก่ Wella Professionals, NIOXIN,SEBASSTIAN และ System Professionals ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เดิมทำตลาดอยู่แล้วในไทย โดยใช้กลยุทธ์ Salon Services First Mindset โดยเข้าไปเทรนนิ่งและให้ความรู้ถึงการใช้สินค้า ผ่านการจัดสัมมนาอบรมร่วมกับร้านทำผมเนื่องจากสินค้าบางตัวเป็นเคมี

‘โอซีซี กรุ๊ป’ ส่งทัพแบรนด์ Wella เจาะตลาดซาลอนไทย               

“ตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผมในร้านซาลอนมีมูลค่าราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนช่วงก่อนโควิดตลาดเติบโต 5-10% ขณะที่ทั่วประเทศมีร้านซาลอนอยู่กว่า 4 หมื่นร้าน ครอบคลุมตั้งแต่ A+ ถึง C แต่กลุ่ม B+ ขึ้นไปมีประมาณ 2,000 ร้านค้า สำหรับ Wella โฟกัสตลาดซาลอน B+ ขึ้นไปถึง A+ ทั่วประเทศ ตอนนี้มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 500 ร้านและจะขยายเพิ่มอีก 50-60 ร้านภายในสิ้นปีนี้ ส่วนในตลาดกลางลงล่างอาจจะเข้าไปในร้านค้าส่งหรือซาลอนซัพพลาย ซึ่งร้านทำผมต่างๆจะเข้ามาซื้อที่ร้านเอง

 

หลังจากนั้นจะขยายเจาะตลาดค้าปลีก โดยคัดสรรแบรนด์ที่มีอยู่ในพอร์ตของ Wella เช่นกลุ่มแฮร์แคร์และผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการทำตลาดในไทย เพื่อเจาะกลุ่ม B2C เพิ่มมากๆขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผ่านช่องทาง Retail Drug Store, Beauty Stores, Online Channel เป็นต้น”

              

ทั้งนี้บริษัทวางงบการตลาดของ Wella ไว้ประมาณ 30%ของยอดขาย เน้นสื่อสารการตลาดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค รวมทั้งสร้างกระแสเทรนด์สีผมใหม่ๆ และคอนเทนต์ใหม่ ๆ ผ่านตัวแทนคนรุ่นใหม่ อาทิ Celebrity, Influencer, Blogger,Net Idol Hair Stylists และ Young Artists เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับช่างผมไทยและ End Consumer ด้วย

 

หน้าที่ 16  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565