"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์" หนี้ท่วม 25,738 ล้าน หวังศาลไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ

30 พ.ค. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 20:35 น.
2.4 k

เปิดเผยฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” แจงหนี้สินพุ่ง 25,738 ล้านบาท เจ้าหนี้หลัก 365 ราย เจ้าหนี้รายย่อยตั๋วเครื่องบิน 66,082 ราย มั่นใจธุรกิจฟื้นได้ โดยจะมีนักลงทุนไทย-ต่างชาติสนใจร่วมลงทุน 2,500 ล้านบาท หากผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลาง มีมติรับคำร้อง และกำหนดวันนัดไต่สวนในวันที่ 22 สิงหาคม 2565

 

 "ฐานเศรษฐกิจ"พบว่าจากคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ”ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” พบว่า สายการบิน "ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์" มีหนี้สินรวม 25,738,793,942 บาท ซึ่งมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจำนวน 12,646.089,351 บาท 

 

สายการบินจึงได้ขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 

 

ปัจจุบันสายการบินมีภาระหนี้ต่อเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้ ตามสัญญาเช่าเครื่องบิน เจ้าหนี้การค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเจ้าหนี้อื่นๆ จำนวน 365 ราย 

 

\"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์\" หนี้ท่วม 25,738 ล้าน หวังศาลไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ทั้งยังมีลูกค้าของสายการบิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ขอคืนค่าตั๋วโดยสาร เจ้าหนี้บัญชีสะสมวงเงินเครดิต(Credit Shell) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้วงเงินดังกล่าวชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการสำรองที่นั่ง และค่าบริการอื่นๆของสายการบินได้ และเจ้าหนี้สำรองค่าตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 66,082 ราย

 

 

ปัญหาทางการเงินของสายการบินเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกิดจากธุรกิจ โดยไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เริ่มประสบปัญหาทางการเงินในปี 2563 จากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้ต้องหยุดบินไปนานกว่า 2 ปี

 

สายการบินมั่นใจว่ามีช่องทางฟื้นฟูกิจการ หากศาลเห็นชอบในฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลงและอยู่ในจุดที่สามารถควบคุมได้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีความพร้อมในการกลับดำเนินธุรกิจ

 

เนื่องจากมีเครื่องบินที่สามารถใช้ทำการบิน 8 ลำ มีเส้นทางการบินที่ได้รับอนุญาตรวม 11 เส้นทาง ใน 5 ประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ของไทยและในต่างประเทศ ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้การเดินทางโดยเครื่องบินในการเดินทางและหรือท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น 

 

ทั้งนี้สายการบินได้วางแผนจะกลับมาเปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ใน 2 เส้นทาง และมีแผนจะกลับมาเปิดบินอีก 6 เส้นทาง ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ สายการบินน่าจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจการบินเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,746 ล้านบาท

 

รวมทั้งสายการบินยังได้เตรียมแผนงานปรับลดเส้นทางการบินที่มีรายรับต่ำ และปรับความถี่ของเที่ยวบินและจำนวนฝูงบินให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง  อีกทั้งยังจะเปิดขายบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าแบบไม่จำกัดเที่ยวบินเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 

 

นอกจากยังมีแผนขยายช่องทางการให้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาสายการบินได้ขยายการให้บริการขนส่งสินค้า ทำให้มีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 200 ถึง 300 ล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2565 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ น่าจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,954 ล้านบาท

 

รวมไปถึงสายการบินยังอยู่ระหว่างการติดต่อของวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเตรียมสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในระหว่างการฟื้นฟูกิจการอีกด้วย

 

ขณะเดียวกันสายการบิน ยังได้เจรจากับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งผลการเจรจาในเบื้องต้นเป็นไปด้วยดี โดยมีนักลงทุนสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในบริษัท หากแผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลส้มละลายกลาง

 

ทั้งนี้เมื่อสายการบินได้รับเงินทุนเพิ่มเติมแล้ว สายการบินก็จะกลับมามีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปตามแผนงานที่วางเอาไว้ต่อไปได้ และจะส่งผลให้สายการบินสามารถสร้างรายได้กลับมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ปัจจุบันเจ้าหนี้หลายรายซึ่งรวมถึงบริษัทในกลุ่มแอร์เอเชียและเจ้าหนี้รายใหญ่ของสายการบินซึ่งมีภาระหนี้รวมกันกว่าร้อยละ 50 ของภาระหนี้ทั้งหมดของสายการบินได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและสนับสนุนให้สายการบินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบกับการที่สายการบินได้เสนอตัวเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

 

สายการบินมั่นใจว่าหากสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ โดยมีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายรับจากการดำเนินธุรกิจ และสามารถจัดหาเงินทุนหมุน เวียนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด รวมถึงดำเนินการปรับปรุงการบริหารจัดการและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ธุรกิจของสายการบินก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้และชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ