ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ บก น้ำ อากาศ จ่อร่วมทุนการบินไทยลุยแอร์คาร์โก้

13 พ.ค. 2565 | 10:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 20:57 น.
1.9 k

ปตท.เดินหน้ารุกธุรกิจโลจิสติกส์ ผนึกจีนรุกขนส่งระบบราง ทั้งจ่อร่วมทุนการบินไทย ลุยขนส่งสินค้าทางอากาศ ดันท่าเรือแหลมฉบับ ฮับทางน้ำ มุ่งเป้าให้บริการครอบคลุมทางบก น้ำ อากาศ ขึ้นแท่นศูนย์กลางขนส่งสินค้าครบวงจร

แผนขยายการลงทุนของกลุ่มปตท.ในช่วง 5 ปีนี้ (ปี2565-2569) มูลค่ากว่า 9.4 แสนล้านบาท นอกจากจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจใหม่ทั้งพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว ธุรกิจโลจิสติกส์ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการขยายธุรกิจใหม่ของปตท.ด้วยเช่นกัน

 

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ของปตท.ถือเป็นแนวรุกใหม่ ที่จะเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนในปลายปีนี้ ซึ่งปตท.จะไม่ได้ไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากใคร 

 

เชิดศักดิ์ ชื่นชม

แต่จะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรรวมถึงภาครัฐในพัฒนา การค้าขายโดยใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่านในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น และจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการขนส่งของไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 13% ของGDP หรือราว 2 ล้านล้านบาท ให้มีต้นทุนที่ลดลง ทำให้มีโอกาสในการขนส่ง ค้าขาย และขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น

 

โดยในส่วนโลจิสติกส์ทางบกนั้น ปตท.จะมุ่งไปที่การให้บริการขนส่งสินค้าในระบบราง เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย-ลาว-จีน ซึ่งปตท.จะร่วมลงทุนกับบริษัทการรถไฟของจีน ที่มีหลายมณฑลหลายราย รวมถึงพาร์ทเนอร์ในไทย ในการเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการขนส่งสินค้า ผ่านแดนจากจีนตอนใต้มายังแหลมฉบัง และจากแหลมฉบังไปจีนตอนใต้ 

ทั้งหากการรถไฟแห่งประเทศไทย พัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อมขอนแก่น หนองคาย ไปลาวได้แล้วเสร็จ ก็จะยิ่งทำให้เกิดการค้าขายระหว่างจีนและภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปก็จะนำเรื่องเสนอบอร์ดปตท.เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนต่อไป แต่ในเบื้องต้นก็เพิ่งจะมีการเริ่มทดลองบริการขนส่งอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเราพยายามสร้างรายได้ในจีน นำสินค้าจาก ลาวขนไปยังจีน ผ่านระบบราง

 

ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ บก น้ำ อากาศ  จ่อร่วมทุนการบินไทยลุยแอร์คาร์โก้

 

ขณะที่โลจิสติกส์ทางอากาศ ปตท.ได้ร่วมมือกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนหรือการร่วมเป็นพันธมิตรใน 3 เรื่อง ได้แก่

 

 1.การให้บริการด้านคลังสินค้า (Warehouse)

 

 2.การขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบิน 

 

3.ให้บริการเครื่องบินขนส่งสินค้า หรือเครื่องบิน Freighter รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้บริการกับทุกสายการบินที่ต้องการขนส่งสินค้าในประเทศไทยด้วย

 

ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ บก น้ำ อากาศ  จ่อร่วมทุนการบินไทยลุยแอร์คาร์โก้

 

ที่ผ่านมาแม้จะเกิดโควิด-19 แต่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศก็ไม่ได้ลดลงเลย ประกอบกับการบินไทยก็มีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการด้านนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดเก็บสินค้า การส่งมอบสินค้าผ่านท้องเครื่องบิน 

 

แต่อาจติดภาระเรื่องเงินทุน หรืออยากมี Statistic Partner เพื่อร่วมขยายธุรกิจ ซึ่งปตท.ก็สามารถเชื่อมโยงสินค้าในกลุ่มปตท.และพันธมิตรให้มาใช้บริการขนส่งสินค้าบนเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายการรุกธุรกิจโลจิสติกส์ทางอากาศของปตท.ด้วย

 

ในส่วนโลจิสติกส์ทางน้ำปตท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายใน ทลฉ.ในการรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของ ทลฉ. 

 

ได้แก่ โครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งบริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ถือหุ้นอยู่ร่วมลงทุนก่อสร้างอยู่ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโลจิสติกส์ด้วย 

 

ส่วนความร่วมมือกับ GULF ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นั้น เบื้องต้นเป็นเรื่องของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีโอกาสได้สิทธิเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย

 

 “เราต้องการพัฒนาการบริการด้านโลจิสติกส์ของปตท.ทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อพัฒนาให้เรามีการให้บริการขนส่งในสินค้าครบทั้ง 3 ด้าน เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าที่ครบวงจร” นายชาญศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. มุ่งพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ ปตท. มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า ควบคู่กับการพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จได้

 

ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ บก น้ำ อากาศ  จ่อร่วมทุนการบินไทยลุยแอร์คาร์โก้

 

ปตท. จึงมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร (Third Party Logistics) ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ โดย ปตท. และ การบินไทย จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย ให้เติบโตและแข็งแกร่ง พร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

 

สุวรรธนะ สีบุญเรือง

 

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics) มีการขยายตัวและมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การบินไทยไม่สามารถทำการบินขนส่งผู้โดยสารได้ตามปกติ แต่คาร์โก้การบินไทย ยังคงให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม อาทิ ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ รวมทั้งสินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีน

 

ปตท.รุกธุรกิจโลจิสติกส์ บก น้ำ อากาศ  จ่อร่วมทุนการบินไทยลุยแอร์คาร์โก้

 

อีกทั้งยังมีบริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าเช่าเหมาลำ (Charter Flight) อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร ลูกค้าสามารถกำหนดเส้นทางตามจุดบินของการบินไทย เลือกเวลาการขนส่งสินค้าตามตารางบินและกำหนดแบบเครื่องบินได้ตามขนาดบรรทุกได้อย่างสะดวกการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศกับ ปตท.ในครั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในการยกระดับขีดความสามารถการบูรณาการธุรกิจโลจิสติกส์

 

โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างครบวงจร ซึ่งการบินไทยมีความเชี่ยวชาญและความพร้อม ทั้งในด้านเที่ยวบินขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Freighter) กิจการคลังสินค้า (Cargo Warehouse) กิจการให้บริการระบบสนับสนุนการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ (Commercial Platform) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ปตท. เป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและขีดความสามารถสูง ความร่วมมือครั้งนี้

 

นอกจากเป็นการแสวงหาโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันยังแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการบินไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการขนส่งสินค้าและบริการ รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การผสานความร่วมมือระหว่างองค์กร (Synergy) ในมิติด้านต่างๆ ในอนาคต อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน