"แอร์บัส" ชิงสมรภูมิอุตสาหกรรมการบินของไทย รับธุรกิจการบินฟื้นตัว

11 พ.ค. 2565 | 19:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 23:15 น.
1.1 k

"แอร์บัส" ประกาศยืนยันความมุ่งมั่นที่มีต่อประเทศไทย รวมถึงธุรกิจการบินในไทย รับภาคการบินเริ่มฟื้นตัว ชิงสมรภูมิอุตสาหกรรมการบินของไทย มูลค่าการจ้างงานร่วม 2.2 ล้านล้านบาท

 

"แอร์บัส” มั่นใจการบินของไทยฟื้นตัว หลังเลิกมาตรการ Test&Go ทั้งส่งมอบเครื่องบิน 7 พันลำให้แอร์ไลน์ทั่วโลก เผย 4 เดือนมอบแล้ว 190 ลำ คาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวเร็วสุด ต้องการเครื่องบินอีกไม่น้อยกว่า 1.7 หมื่นลำ ภายใน 20 ปีนี้ 

 

วันนี้(วันที่ 11 พฤษภาคม 2565) แอร์บัส ประกาศยืนยันความมุ่งมั่นที่มีต่อประเทศไทย และธุรกิจการบินในไทย โดยระบุว่าเนื่องจากภาคการบินในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 แอร์บัสในฐานะผู้ผลิตด้านการบินและอวกาศชั้นนำได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศ

นายอานันท์ สแตนลีย์ ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าประเทศไทยยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินป้องกันทางอากาศและอวกาศ และเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัส

 

อานันท์ สแตนลีย์

 

เครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัสเป็นกำลังสำคัญของฝูงบินของสายการบินในประเทศไทย และมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเครื่องบินแอร์บัสประจำฝูงบินของสายการบินในประเทศไทย ทั้งสิ้น 67 ลำ ซึ่งครอบคลุมเครื่องบินเกือบทุกรุ่นของสายการผลิต

สายการบินบางกอกแอร์เวย์สและไทยสมายล์ปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินตระกูล เอ320 (A320) ซึ่งเป็นรุ่นที่มอบบริการที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับตลาดการบินภายในประเทศและภูมิภาค และสำหรับเครื่องบินลำตัวกว้าง สายการบินไทยให้บริการด้วย เอ330 (A330) และเอ350 (A350) และสายการบินไทยไลออนแอร์บริการด้วยเครื่องบิน เอ330นีโอ (A330neo) รุ่นใหม่ล่าสุดที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

เรื่องการฟื้นตัวของตลาด นายสแตนลีย์กล่าวว่าแอร์บัสมั่นใจว่าการท่องเที่ยวและการเดินทางทางอากาศของประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างแน่นอน

 

“เราเห็นความต้องการของตลาดแถบเอเชียและแปซิฟิกที่ได้ยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางไปแล้วนั้นมีจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่ได้เรียกคืนตำแหน่งการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมของโลกและเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ”

 

\"แอร์บัส\" ชิงสมรภูมิอุตสาหกรรมการบินของไทย  รับธุรกิจการบินฟื้นตัว

 

นอกเหนือจากตลาดเครื่องบินพาณิชย์ นายสแตนลีย์ยังได้เน้นถึงความสำเร็จในตลาดเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินป้องกันทางอากาศในประเทศไทย โดยมีอากาศยานปีกหมุนจำนวน 70 ลำ และเครื่องบินทหารจำนวน 20 ลำที่ประจำการอยู่ โดยฝูงบินปฏิบัติการในภารกิจที่หลากหลาย ได้แก่ ภารกิจขนส่งลำเลียงพล สาธารณะประโยชน์ การอพยพฉุกเฉินทางการแพทย์ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ของประเทศไทย มีตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ขนาดเบาเครื่องยนต์เดี่ยวและคู่ ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์บรรทุกหนัก รวมถึงเอช225เอ็ม (H225M) เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพอากาศไทย และ เอช145เอ็ม (H145M) เฮลิคอปเตอร์สำหรับขนส่งลำเลียงของกองทัพเรือไทย 

 

ในขณะเดียวกัน เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีรุ่น ซี295 (C295) มีบทบาทสำคัญสำหรับกองทัพบกโดยมีภารกิจตั้งแต่ลำเลียงกำลังพลและสิ่งของไปจนถึงการอพยพทางการแพทย์และการเคลื่อนกำลังทหารพลร่ม ในส่วนของอวกาศ แอร์บัสมีความภูมิใจที่ได้รับเลือกให้สร้างระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ธีออส-2 (THEOS-2) โดยจะแล้วเสร็จและเปิดตัวในช่วงปลายปี 2565 หรือช่วงต้นปี 2566” นายสแตนลีย์กล่าวเสริม

 

\"แอร์บัส\" ชิงสมรภูมิอุตสาหกรรมการบินของไทย  รับธุรกิจการบินฟื้นตัว

 

นายสแตนลีย์ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรอันยาวนานระหว่างแอร์บัสกับประเทศไทย รวมถึงการมีสำนักงาน และศูนย์ปฏิบัติการการบินของแอร์บัสในกรุงเทพฯ ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ที่ให้การบำรุงรักษาและพัฒนาฝูงบิน (MRO) ของพลเรือนและทหาร และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ ประเทศลาวและกัมพูชา แอร์บัสถือเป็นผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายเดียวในปัจจุบันที่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในประเทศไทย

 

แอร์บัสยังมีข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย (TAI) ให้การสนับสนุนฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดของของรัฐบาลไทย โดย TAI เป็นผู้รับเหมาหลักและเป็นศูนย์ให้บริการดูแลการขายและการจัดจำหน่ายฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัสทุกลำที่ปฏิบัติการโดยกองทัพและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย

 

ด้านการผลิตแอร์บัสมีสัญญาหลายฉบับร่วมกับไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย (Triumph Aviation Services Asia) โดยครอบคลุมในเรื่องการซ่อมแซม ยกเครื่อง และดัดแปลงโครงสร้างเฟรมของเครื่องบิน  เอ320 เอ330 และ เอ340 ที่ดำเนินการโดยสายการบินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

คาร์บอน เอวิเอชั่น (Qarbon Aviation) โดยก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของไทรอัมกรุ๊ป ยังได้จัดหาชิ้นส่วนคอมโพสิตสำหรับเครื่องบินรุ่น เอ320 เอ330 และเอ350 โดยชิ้นส่วนที่อยู่ใบริการจะครอบคลุม แผ่นบังคับที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังของปีกทั้งสองข้าง (Flap leading edges) และแฟริ่งส่วนหางแนวตั้ง (Vertical tail plane fairings) ของรุ่นเอ320 ชายขอบปีกหลังส่วนหาง (Trailing plane edge panels) ของรุ่นเอ330 แฟริ่งและแผงขอบหน้าของปีกเครื่องบิน (Fairings and leading-edge panels) และแผ่นบังคับที่ติดตั้งอยู่ที่ส่วนท้ายของแพนหางแนวดิ่ง (Rudder) ของรุ่นเอ 350

 

“อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยรองรับตำแหน่งงานถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง และมีมูลค่าการจ้างงานรวม 63,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท) ต่อจีดีพีของประเทศ เราภูมิใจที่ได้มีบทบาทในอุตสาหกรรมที่สำคัญนี้ในประเทศ และเราหวังว่าการเป็นพันธมิตรของเราจะแข็งแกร่งขึ้นและสามารถให้การสนับสนุนระดับสูงสุดแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มในตลาดการบิน” เขากล่าว

 

ส่วนแผนการลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ก่อนหน้านี้นั้น ยังคงระงับไว้ชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขณะนี้ยังไม่มีแผนหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามแม้จะยังระงับการลงทุนดังกล่าวไว้ แต่แอร์บัสยังคงมุ่งมั่นต่อการดำเนินกิจการ และชื่อเสียงของตัวเองในประเทศไทย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการปฏิบัติการบินแอร์บัส (Airbus Flight Operations Services Center) แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ผลิตคู่มือปฏิบัติการบินมาตรฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องบินแอร์บัสทุกประเภท และยังให้บริการจัดทำข้อมูลปฏิบัติการบินที่สามารถปรับได้ตามความต้องการสำหรับสายการบินที่มีความต้องการแบบเฉพาะ 

 

สำหรับตลาดการบินในเอเชียแปซิฟิก จะเป็นภูมิภาคที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่สุด และกลับมาอย่างเข้มแข็ง โดยภายใน 20 ปีข้างหน้านี้จะมีอัตราเติบโตประมาณ 5% ต่อปี และจะมีความต้องการเครื่องบินอีกอย่างน้อย 1.7 หมื่นลำ คิดเป็น 45% ของตลาดการบินทั่วโลก อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเดือน เม.ย.65 แอร์บัสมียอดคำสั่งซื้อเครื่องบินที่ต้องส่งมอบให้กับสายการบินทั่วโลกประมาณ 7 พันลำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่แอร์บัสยังคงมีการผลิตและส่งมอบเครื่องบินทุกเดือน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 65 แอร์บัสดำเนินการส่งมอบให้สายการบินต่างๆ ทั่วโลกแล้วประมาณ 190 ลำ