ครม.เคาะปรับเกณฑ์ LTR Visa ปลดล็อก ดึง "ต่างชาติศักยภาพสูง"1ล้านคนเข้าไทย

10 พ.ค. 2565 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 00:22 น.

"รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล" เผยครม.ปรับเกณฑ์วีซ่าระยะยาว หรือ LTR Visa ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเป้าหมาย เข้าประเทไทย 1 ล้านคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ว่า  ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

 

โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa :LTR Visa) ให้มีความครอบคลุมและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ

 

เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทยระยะยาว จำนวน 1 ล้านคน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  1. กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
  2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
  4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ โดยออกเป็นร่างระเบียบและร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ดังนี้


 
1.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ.2540 โดยกำหนดให้ อาทิ 

  1. ผู้พำนักระยะยาวและผู้ติดตาม รวมถึงบุคลากรกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศมีสิทธิใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าฯ  
  2. กำหนดให้ศูนย์บริการวีซ่าฯ มีอำนาจในการแก้ไขและยกเลิกตราประทับที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบอื่น รวมถึงการแก้ไขและยกเลิกการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศได้

2.ร่างประกาศ สกท. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติ ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa)  

 

มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงแก้ไข มติ ครม. เมื่อ 14 กันยายน 2565 ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย อาทิ ผู้ยื่นคำขอ

  1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง/ กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ต้องแสดงกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีระยะเวลาคุ้มครองคงเหลือไม่น้อยกว่า 10 เดือน ณ วันที่ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติ หรือสิทธิประกันสังคมที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ในประเทศไทย หรือเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ 
  2. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ต้องแสดงหลักฐานการมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ เช่น มีรายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขอ 
  3. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการกับกิจการในประเทศ หรือกับกิจการในต่างประเทศ 
  4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ ต้องแสดงหลักฐานการมีประสบการณ์การทำงาน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ปี ในห้วงระยะเวลา 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ  ยกเว้นผู้ที่เข้ามาทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าขึ้นไป 

 

3.ร่างประกาศ สกท. เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa)

 

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอ Smart Visa สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเลิกประกาศ สกท. วันที่ 18 ธันวาคม 2561

 

แต่ยังคงประเภท คุณสมบัติ และเงื่อนไขเดิมของ Smart Visa ตามมติ ครม. เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กำหนดคุณสมบัติคนต่างด้าวที่ประสงค์จะยื่นขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่ สกท. กำหนด อาทิ 1.ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2)ต้องมีการลงทุนโดยตรงในนามของผู้ขอไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ หรือในบริษัทเงินร่วมลงทุน 
  2. เพิ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa และอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ  และอุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ